วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

เมื่อเกษตรกรมาเป็น SMEs (2) : จุดจำหน่ายสินค้าริมทาง)


ขอบคุณภาพจาก : http://www.oknation.net/blog/chaiyospun/2009/05/03/entry-1


เมื่อเกษตรกรตัดสินใจมาเป็นผู้จำหน่ายสินค้าที่ตนเองผลิตได้แล้วนั้นการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายหลักตัวหนึ่ง หากทำได้ก็จะลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลงได้มาก

การจัดหาที่จำหน่ายสินค้าในพื้นที่จึงถือเป็นทางเลือกอันดับแรก ทั้งนี้เราจะเห็นได้ว่าในพื้นที่ต่างจังหวัดมีร้านค้าริมทางลักษณะแผงลอยเล็กๆ จำหน่ายสินค้าเกษตรตามฤดูการเป็นจำนวนพอสมควรซึ่งถอเป็นแหล่งทำเงินแหล่งหนึ่งสำหรับผู้ต้องการจำหน่ายสินค้าต่างๆ

การนำสินค้ามาจำหน่ายริมทางในบริเวณที่รถสามารถจอดซื้อหาสินค้าได้นับเป็นชื่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าที่น่าสนใจและสร้างรายได้ให้กับผู้ขายได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ ญาติของผู้ขายคนหนึ่งทำธุรกิจ SMEs เกี่ยวกับเนื้อหมูจำพวกกุนเชียง หมูหยอง ได้มีไดยขยายฐานการตลาดของเขาไปยังแผงค้าริมทางเหล่านี้ โดยการไปคุยกับร้านต่างๆ ที่ตั้งอยู่ริมทางในบริเวณจังหวัดปทุมธานีโดยเลือกร้านใหญ่ๆ หน่อยนัดกำหนดเวลาฝากวางประมาณ 10 วันเพื่อเช็คของและเก็บเงิน ผลปรากฎว่าเวลาผ่านไปประมาณ 5 วันร้านค้าได้โทรศัพท์มาแจ้งว่าสินค้าหมดแล้วให้นำของใหม่ไปส่งและเก็บเงินเก่าได้เลย ซึ่งการฝากวางกับร้านค้าเหล่านี้ข้อดีคือการง่ายต่อการฝากขายและเจรจา และได้เงินค่าตอบแทนรวดเร็ว ที่สำคัญคือไม่ต้องออกขายของเอง (กรณีนี้เขาเลือกร้านริมทางค่อนข้างใหญ่และดูน่าเชื่อถือได้)

กรณีของเกษตรกรการนำสินค้ามาขายบริเวณริมทางช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปขายในพื้นที่ไกลๆ อีกทั้งผู้สัญจรผ่านไปมาก็สามารถจอดรถหาซื้อสินค้าได้ง่าย และสามารถขายได้ราคาสูงกว่าการขายส่งให้นายทุน หรือพ่อค้าคนกลาง การนำสินค้าตามฤดูกาลมาจำหน่ายริมทางจึงเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นแก่เกษตรกรได้โดยมีค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก หรือหากไม่สะดวกเรื่องการขายในบริเวณดังกล่าวก็สามารถใช้วิธีการฝากขายกับพ่อค้าแม่ค้าริมทางได้โดยการแบ่งเปอร์เซ็นตามตกลง

นอกจากสินค้าตามฤดูกาลแล้ว การนำสินค้าแปรรูปต่างๆ ของผลผลิตมาจำหน่ายยังช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้มีราคาสูงขึ้นและสามารถจัดจำหน่ายได้ทั้งปี ส่งผลให้พื้นที่ขายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากในที่สุด

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ พื้นที่ริมทางในบริเวณต่างๆ ในต่างจังหวัดทั่วประเทศ อาทิ ชลบุรี ระยอง อยุธยา สุพรรณบุรี ปทุมธานี ฯลฯ ต่างมีจุดจำหน่ายสินค้าริมทางที่สร้างรายได้แก่ผู้ขายได้เป็นกอบเป็นกำ และสามารถกระจายรายได้ให้เกษ๖รกรในพื้นที่ได้พอสมควร และในปัจจุบันยังสามารถขยายฐานการตลาดในพื้นที่ได้เรื่อยๆ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่สัญจรผ่านไปมาและซื้อของฝากกลับไปฝากคนทางบ้าน

วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553

การตั้งราคาสินค้า







ว่าด้วยเรื่องการตั้งราคาการขายสินค้านั้นตามหลักการตลาดได้แบ่งวิธีการขั้นพื้นฐานในการตั้งราคา
วิธีการขั้นพื้นฐานในการตั้งราคา (Basic Methods of Setting Price) นิยมกันอยู่ทั่วไป 3 วิธีคือ
1. วิธีการตั้งราคาโดยยึดต้นทุนเป็นเกณฑ์
- ตั้งราคาโดยคิดต้นทุนบวกกำไร (ราคาขายต่อหน่วย = ต้นทุนทั้งหมด + กำไรที่ต้องการ)
- วิธีการวิเคราะห์จุดคุ้มทุน (จุดคุ้มทุน (Break-Even Point) เป็นจุดที่แสดงว่าปริมาณ ณ จุดของการผลิต หรือการจำหน่าย รายได้รวมจะเท่ากับต้นทุนรวมพอดี)
2. วิธีการตั้งราคาโดยยึดความต้องการของตลาดเป็นเกณฑ์ กล่าวคือ การตั้งราคาโดยดูจากความต้องการของตลาดที่จะสามารถยอมรับราคาที่เราตั้งว่าสามารถยอมรับราคาดังกล่าวได้หรือไม่
3. วิธีการตั้งราคาโดยยึดการแข่งขันเป็นเกณฑ์ ก็คือ การตั้งราคาโดยเปรียบเทียบกับราคาสินค้าของคู่แข่งหรือสินค้าชนิดเดียวกันกับเราเจ้าอื่นๆ แล้วจึงตั้งให้ใกล้เคียงกับเขา หรือต่ำกว่า


ซึ่งทั่วไปการตั้งราคาสินค้าก็จะใช้หลักการทั้ง 3 ประเภทร่วมกัน โดยสิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นสำคัญในการคำนวณ คือ "ต้นทุนทั้งหมด" ซึ่งผู้ขายหลายท่านอาจลืมนำต้นทุนที่มองไม่เห็นบางอย่างไปคำนวณก่อนการตั้งราคาขายสินค้าไปด้วย เช่น ค่าแรงงาน ค่าเสื่อมราคาของอุปกรณ์ (รถ, เครื่องใช้ไม้สอย) ค่าใช้จ่ายต่างๆ ระหว่างการขาย (ค่าที่พัก, ค่าอาหาร) โดยมักจะนำค่าใช้จ่ายเฉพาะที่เห็นได้ชัดเจนไปคำนวณหักลบ และนำมาตั้งเป็นราคาสินค้าสำหรับขายเท่านั้น

สำหรับตัวผู้เขียนเองเทคนิคในการตั้งราคาสินค้าของตัวเองซึ่งเป็นสินค้าเฉพาะไม่ซ้ำกับสินค้าของท้องตลาดจะใช้วิธีการคำนวณดังนี้คือ .... ต้นทุนทั้งหมด + กำไรที่ต้องการ (ไม่ต่ำกว่า 30%) = ราคาสินค้าต่อหน่วย โดยนำราคาตลาด และราคาสินค้าของคู่แข่งมาพิจารณาร่วมด้วยน้อยมาก โดยนำแนวคิดเรื่องคุณภาพของสินค้ามาทดแทนเรื่องราคาที่มีความแตกต่างกัน สินค้าของผู้เขียนจะเน้นคุณภาพของสินค้าที่อยู่ในระดับ A+ ซึ่งจะตั้งราคาในระดับสูงกว่าสินค้าชนิดเดียวกันปรกติ และเน้นบริการก่อนและหลังการขายเพิ่มขึ้นจากคู่แข่งสินค้าชนิดเดียวกันเจ้าอื่นๆ ซึ่งเมื่อลูกค้าทักท้วงเรื่องราคา ก็จะให้เหตุผลกับลูกค้าตามบริการอื่นๆ ที่เราเพิ่มให้เพื่อให้ลูกค้าเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับ โดยผู้เขียนจะไม่เน้นการทำตลาดโดยการลดราคาสินค้าเลย หากลูกค้ายังคงไม่พอใจกับราคาที่เราเสนอให้แล้วนั้นในบางครั้งเราต้องปล่อยลูกค้าบางรายไปเพื่อคงมาตรฐานของงานเราให้มีคุณภาพที่ดีในราคาที่เรากำหนดและเรารับได้

มีผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารชนิดหนึ่งได้มาออกงานแสดงสินค้าที่กรมการส่งเสริสการส่งออก ได้เคยกล่าวถึงประสบการณ์การขายสินค้าของตนเองว่าไม่เคยลดราคาสินค้าให้ลูกค้าเลย ยกเว้นการปัดเศษเงินทอนเล็กๆ น้อยๆ โดยจะเน้นการแจกและแถมให้กับลูกค้าแทนการลดราคาเพื่อสร้างมาตรฐานราคาของสินค้าของตน และเป็นแนวทางให้กับลูกน้องที่มาขายสินค้าให้ไม่ต้องลำบากใจเมื่อต้องมาขายของ โดยในทุกวันจะจัดเตรียมสินค้าสำหรับแจกและแถมไว้ต่างหากโดยคำนวณสินค้าส่วนนี้ไว้กับราคาต้นทุนสินค้าแล้ว เมื่อลูกค้าของลดราคา ก็ใช้วิธีการนำสินค้านี้แถมเพิ่มให้ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะพอใจการแจก-แถมนี้ค่อนข้างมาก โดยจะมองว่าแม่ค้าใจดี อีกทั้งการแจกหรือแถมสินค้าไปนั้นลูกค้าจะได้ของที่เห็นเป็นปริมาณ และชิ้นส่วนของสินค้าอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ซึ่งเมื่อนำสินค้ามาใช้บริโภคก็จะรู้สึกดีว่าสินค้านี้ได้แถมมาจากร้านค้า

เทคนิคการแจก-แถมสินค้าเป็นกลยุทธ์ที่ส่งผลดีกว่าการลดราคาสำหรับธุรกิจขนาดเล็กๆ เพราะสินค้าอยู่ในมือเราราสามารถจัดการคำนวณต้นทุนต่างๆ ได้ อีกทั้งสินค้าสำหรับแจกจะอยู่ในราคาทุนของเราอยู่แล้วการแบ่งสินค้าไว้สำหรับแถมหรือแจกจึงทำให้ร้านค้าสามารถคำนวณรายได้และกำไรของร้านได้ดีขึ้น ไม่ผิดพลาดหรือตกหล่นอย่างการลดราคาที่อาจมีการตกหล่นของการจดจำยอดเงิน

ดังนั้นเทคนิคการแถม - แจกจึงควรนำมาใช้ในการเพิ่มยอดการขายได้มากกว่าการลดราคา หรือกรณีสินค้าเราชิ้นใหญ่ไม่สามารถแถม-แจกได้ผู้ขายก็สามารถช้วิธีการสะสมแต้มหรือแจกเป็นสินค้าชนิดอื่นๆ แทน เป็นต้น










วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553

เมื่อเกษตรกรมาเป็น SMEs (1)

ในประเทศไทยผลิตภัณฑ์ภาคเกษตรซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของประเทศถูกดัดแปลงมาเป็นสินค้าสำหรับจัดจำหน่ายมากมายในท้องตลาด ทั้งในธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ และอื่นๆ

บ่อยครั้งที่ตลาดภาคเกษตรต้องประสบปัญหาการไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่ต้องการ หรือมีสินค้าล้นตลาดจนไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ ส่งผลให้เกษตรกรต้องแปรรูปสินค้าเพื่อให้คงรูปหรือเก็บไว้ได้ยาวนาน หรือบางครั้งต้องนำผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย และหาตลาดด้วยตนเอง จนกลายเป็นพ่อค้าแม่ค้าจำเป็นในขั้นแรก และกลายเป้นทั้งเกษตรกรและพ่อค้าแม่ค้าไปพร้อมๆ กันในที่สุด

หลายครั้งในงานมหกรรมที่ภาครัฐและเอกชนจัดให้มีการจำหน่ายสินค้าแปรรูปภาคเกษตรจะเห็นพ่อค้าแม่ค้าที่มาออกร้านจำหน่ายสินค้าที่เป็นเกษตรกรมาจัดจำหน่ายสินค้าของตนเอง ในฐานะตัวแทนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรต่างๆ

ข้อได้เปรียบของเกษตรกรที่มาเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าเอง ก็คือการไม่ต้องมีการผ่านสินค้าสู่พ่อค้าคนกลาง ซึ่งเป็นผลดีในการได้ผลกำไรอย่างเต็มที่จากผลิตภัณฑ์ที่นำมาจัดจำหน่าย อีกทั้งผู้ผลิตหรือเกษตรกรสามารถได้พบปะและเป็นผู้จัดจำหน่ายโดยตรงแก่ผู้บริโภค เป็นผลดีทั้งแก่ผู้ซื้อที่ได้ซื้อสินค้าในราคาถูก และผู้ขายที่ได้ขายสินค้าได้ราคาที่ตัวเองเป็นผู้กำหนด และได้กำไรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย


แต่ปัญหาของเกษตรกรในการดำเนินธุรกิจ หรือปรับตัวมาเป็นผู้ขายโดยตรง คือมีหลายประการเช่นกัน ทั้งปัญหาด้านการบริหารสินค้าที่มีกพบเกิดปัญหาอยู่เสมอ คือ เมื่อนำสินค้ามาจัดจำหน่ายหมดลงต้องนำสินค้ามาเพิ่มเกษตรกรจำขาดการคำนวณเรื่องระยะเวลาการเดินทาง ต้นทุนการขนส่ง รวมไปถึงระยะเวลาของการจัดเก็บสินค้า ทำให้บ่อยครั้งพบว่าเกิดกรณีขายสินค้าหมดก่อนเวลางานที่จัดขึ้น หรือการตั้งราคาขายต่ำกว่าต้นทุนการขนส่งโดยขาดการคำนวณ รวมไปถึงการขาดการคำนวณเรื่องการจัดเก็บสินค้าจนเกิดความเสียหายแก่สินค้าประเภทอาหาร เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาพื้นฐานที่พบบ่อยครั้งกับเกษตรกรที่เข้าสู้ตลาดการค้าขาย

ดังนั้นการเรียนรู้เทคนิคการจัดการบริหารสินค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญที่กลุ่มเกษตรกรต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจก่อนเริ่มต้นเข้ามาเป็นผู้ค้าสินค้าเกษตร ซึ่งหากเกาตรกรอยู่ในกลุ่มแม่บ้านภาคเกษตร หรือกลุ่มเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดอบรมให้แก่กลุ่มเกษตรกรอยู่เป็นครั้งคราว แต่หากไม่ได้อยู่ในกลุ่มต่างๆ เหล่านี้แล้วก็ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ จากการหนังสือ และลู่ทางอื่นๆ

วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2553

SMEs มีเพื่อนเยอะ !!!

ปัจจุบันธุรกิจ SMEs ภาคธุรกิจที่มีสัดส่วนของของกิจการมากที่สุดในประเทศไทย คือ 99.7% หรืออีกมุมมองหนึ่งก็คือธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นธุรกิจ SMEs และมีเพียง 0.03% เท่านั้นที่เป็นธุรกิจขนาดที่ใหญ่กว่า

ไม่ใช่เพียงประเทศไทยประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียก็เช่นเดียวกันที่ธุรกิจ SMEs เป็นธุรกิจที่มีสัดส่วนสูงกว่าธุรกิจขนาดอื่นๆ ประเทศเพื่อนบ้านเรา Malaysia 96.1% Singapore 99.7% รวมไปถึง Hong Kong 98.0% และ Japan 98.9% แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วธุรกิจ SMEs นี้เพื่อนเยอะ ^^

ธุรกิจขนาดเล็กถือเป็นจุดเริ่มต้นสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ต่อไปในอนาคตสำหรับผู้ที่ต้องการเติบโต และสำหรับหลายๆ คนการทำธุรกิจขนาดเล็กที่ดีและประสบความสำเร็จ และมีคุณภาพโดยไม่ต้องเป็นธุรกิจขนาดที่ใหญ่ขึ้นก็เป็นความฝันในอาชีพการงานของเขาอย่างแท้จริง ดังนั้นธุรกิจ SMEs จึงถือเป็นธุรกิจตั้งต้นสำหรับคนมีฝันที่จะมีอิสระในอาชีพการงานหลายๆ คน

แม้แต่ในประเทศที่เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างประเทศญี่ปุ่นเองก็มีสัดส่วนของธุรกิจ SMEs ถึง 98.9% ประเทศในกลุ่ม EU ก็อยู่ที่ประมาณ 99%

ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบันอย่าง “บ้านใร่กาแฟ” และสาหร่าย "เถ้าแก่น้อย" ก็เริ่มต้นต้นธุรกิจของพวกเขาจาก SMEs มาแล้ว

ดังนั้นความสำเร็จของธุรกิจจะมีได้ต้องมาจากการเริ่มต้นที่ดี ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใดๆ หากเจ้าของดำเนินการอย่างตั้งใจ เรียนรู้ธุรกิจอย่างตั้งใจจริง และใช้ประสบการณ์ในอดีตเพิ่มพูนความสามารถในปัจจุบันและอนาคตแล้ว ความสำเร็จในการเป็น SMEs ที่ประสบความสำเร็จ หรือก้าวสูงขึ้นในธุรกิจขนาดที่ใหญ่กว่าย่อมเป็นไปได้อย่างแน่นอน


References
Wikipedia. 2010. Small and medium enterprises. [Online]
http://en.wikipedia.org/wiki/Small_and_medium_enterprises
Vadim Kotelnikov. 2007. Small and Medium Enterprises and ICT. [Online]
http://www.apdip.net/publications/iespprimers/eprimer-sme.pdf
ชนิดา จรรยาเพศ แบมฟอร์ด. 2542. "จิ๋วแต่แจ๋ว" เศรษฐกิจชุมชนในอเมริกา. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก
http://www.focusweb.org/thailand/html/modules.php?op=modload&name=News&file=article&sid=7

วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553

ธุรกิจขนาดเล็ก..กับการใช้ Outsource

ธุรกิจขนาดเล็กของเรามีข้อจำกัดเรื่องจำนวนแรงงานในธุรกิจ ตัวเจ้าของกิจการมักรับภาระรับผิดชอบดูแลงานส่วนใหญ่ อาทิ งานเอกสาร บัญชี การจัดการสินค้า รวมไปถึงซื้อสินค้า และจัดส่งสินค้า หรือในบางกรณีคือมีแรงงานหลักคนเดียวนี่แหละคือเราผู้เป็นเจ้าของกิจการ ^^

ดังนั้นการใช้ Outsource หรือ การจ้างแรงงานจากภายนอกมาช่วยทำงานในบางส่วนที่เราไม่สามารถทำได้ เพื่อทุ่นเวลาในการทำงานของเรา หรือช่วยให้งานของเราสามารถขยายวงในการดำเนินธุรกิจได้มากยิ่งขึ้นจึงเป็นเรื่องที่สมควรพิจารานำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจ SMEs ของเราเป็นอย่างยิ่ง

การใช้ Outsource นอกจากจะช่วยทุ่นเวลาในการทำงานของเราแล้ว ยังเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจเราให้ดียิ่งขึ้น เพราะธุรกิจขนาดเล็กเนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องแรงงานที่มีอยู่น้อยในองค์กร การจ้าง Outsource ในบางครั้งที่มีการแคลนแรงงานเฉพาะ หรืองานที่เจ้าของธุรกิจขาดความเชี่ยวชาญเฉพาะในบางช่วงเวลาก็น่าจะเป็นประโยชน์ให้เจ้าของธุรกิจได้นำเวลาส่วนที่จะเสียกับงานส่วนนี้ไปดำเนินงานส่วนอื่นๆ ที่ถนัดให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

Outsource ที่ธุรกิจขนาดเล็กมักจะใช้บริการอยู่สม่ำเสมอก็คือ บริการรับ-ส่งเอกสาร บริการทำความสะอาด บริการตรวจ-ทำบัญชีประจำปี เป็นต้น ซึ่งงานลักษณะนี้เป็นงานซึ่งต้องใช้เวลาหรือความชำนาญ ซึ่งหากสามารถจัดหา Outsource มาดำเนินงานในส่วนนี้ได้เจ้าของกิจการจะสามารถมุ่งงานไปที่ส่วนอื่นที่สำคัญกว่าได้ดีขึ้น

นอกจาก Outsource จะช่วยด้านเวลาและแรงงานแล้วในหลายครั้งการใช้บริการ Outsource จะช่วยขยายฐานการทำงานของธุรกิจเราให้สามารถขยายตลาดให้กว้างขึ้นได้ ตัวอย่างกรณีของร้านรับพิมพ์งานแห่งหนึ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่พึ่งก่อตั้ง มีเงินทุนหมุนเวียนต่ำ แต่เจ้าของกิจการต้องการขยายงานส่วนการรับทำนามบัตรและบริการจัดส่งถึงที่ จึงได้ประกาศรับทำนามบัตรทางอินเตอร์เน็ตซึ่งมีลูกค้าตอบรับให้ความสนใจใช้บริการทำนามบัตรจำนวนมาก แต่ด้วยเงินทุนหมุนเวียนต่ำการรับสมัครพนักงานประจำสำหรับงานรับ-ส่งเอกสาร จึงเป็นเรื่องต้องตัดทิ้งไป เจ้าของร้านรับทำนามบัตรจึงได้ติดต่อกับรถจักรยานยนต์รับจ้างใกล้ๆ ร้านคนหนึ่งที่รับวิ่งงานนอกพื้นที่สำหรับเป็น Outsource ของร้านตนเอง เมื่อมีลูกค้าสั่งงานก็ใช้บริการ Outsource นี้และจ่ายเงินค่าจ้างเป็นงานๆ ไป โดยเจ้าของร้านได้เพิ่มเงื่อนไขการรับส่งงานด้วยจำนวนเงินขั้นต้นของการส่งนามบัตรว่ามีขั้นต่ำเท่าไร เพื่อให้เพียงพอต่อการจ้างจักรยานยนต์รับจ้างแต่ละครั้ง ซึ่งวิธีนี้ถือว่า win : Win : Win เลยทีเดียว คือ เจ้าของร้านได้งาน ลูกค้าได้ของ และจักรยานยนต์รับจ้างได้ค่าจ้าง (แถมกลับไปวิ่งรับคนที่วินมอร์เตอร์ไซต์ได้ต่อด้วย)

ข้างบ้านผู้เขียนรับเย็บเสื้อผ้าโหลส่งประตูน้ำก็ใช้บริการ Outsource กับเขาเหมือนกัน ทุกๆ วันจะเห็นมีสาวๆ หลายคนเดินหอบผ้ากองใหญ่มาที่บ้านหลังนี้เพื่อส่งเสื้อผ้าที่นำไปเย็บกลับมาส่งเจ้าของบ้าน เมื่อส่งงานก็จะรับเงินค่าจ้างทันที เจ้าของบ้านเย็บผ้าโหลได้สินค้าจำนวนเพียงพอส่งผู้ว่าจ้าง และสามารถขยายงานได้มากขึ้นทั้งจำนวนที่มากขึ้นและระยะเวลาการทำงานที่ลดลง ผู้รับจ้าง Outsource ก็ได้สตางค์ไปใช้จ่ายจุนเจือครอบครัวโดยไม่ต้องเดินทางไปทำงานไกลบ้าน

ข้อดีของการใช้ Outsource มีมากมายหากเจ้าของกิจการรู้จักนำแรงงานส่วนนี้มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง แต่ขณะเดียวกัน Outsource คือแรงงานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังนั้นเจ้าของกิจการต้องพิจารณาคุณสมบัติของ Outsource ให้ดี อาทิ ระเบียบวินัย ความซื่อสัตย์ ความตรงต่อเวลา และอื่นๆ

วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2553

เจ้าของ SMEs ต้องหมั่นหาความรู้

ผู้ประกอบกิจการ SMEs ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ในเรื่องธุรกิจของตนเองสม่ำเสมอ ทั้งการอ่านหนังสือ บทความ หนังสือพิมพ์ การเข้าสัมมนา และเข้าชมงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้อง และแหล่งความรู้อื่นๆ เพื่อนำความรู้ดังกล่าวมาพัฒนา ปรับปรุงธุรกิจของเราให้ดียิ่งๆ ขึ้น

ในตอนเริ่มต้นธุรกิจเราอาจมีความรู้ในงานของเราบางส่วน แต่เมื่อเริ่มต้นทำไปได้สักพักความรู้ควรต้องมีมากขึ้น ทั้งจากประสบการณ์ที่ได้รับ และจากการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม

ยิ่งเรามีความรู้มากกว่าธุรกิจชนิดเดียวกันอื่นๆ เรายิ่งได้เปรียบมากยิ่งขึ้น และเป็นผู้นำในธุรกิจดังกล่าว ในสนามธุรกิจการได้เปรียบหรือเป็นผู้นำแม้เพียงเล็กน้อย ก็ยิ่งส่งผลต่อผลกำไรที่จะได้เพิ่มขึ้นมา ยกตัวอย่างการขายสินค้าแฟชั่น การศึกษาแนวโน้มของตลาดจากนิตยสารต่างประเทศย่อมทำให้เรามีมุมมองตลาดภายในประเทศได้ไวกว่าร้านขายเสื้อผ้าแฟชั่นด้วยกัน เราสามารถสั่งสินค้าที่นำสมัย หรือสั่งตัดเย็บเสื้อผ้าแบบต่างๆ ได้ก่อน และนำออกวางจำหน่ายปลีกขายส่งได้ก่อนร้านอื่นๆ ซึ่งเมื่อเราสามารถมองตลาดได้ล่วงหน้า และเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ก่อนใครๆ ย่อมทำให้ผู้ซื้อมุ่งการซื้อมาที่ร้านของเราก่อนร้านอื่นๆ เมื่อคิดที่จะซื้อสินค้าชนิดนั้นๆ

นอกจากการศึกาหาข้อมูลต่างๆ จะได้ประโยชน์ของการทราบแนวโน้มตลาดแล้ว เรายังได้ความรู้เรื่องการตกแต่งร้าน การปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ รวมไปถึงเทคนิคการขายหรือเรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ การทำบัญชี การบริหารร้านค้า การพัฒนาบุคลากร เป็นต้น

ถึงแม้เราจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก แต่เราก็สามารถสร้างมาตรฐานให้ธุรกิจเรามีคุณภาพได้ไม่แพ้ธุรกิจใหญ่ๆ ด้วยการมีความรู้และความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในงานของเรา และพยายามปรับปรุงธุรกิจของเราให้ถูกใจลูกค้า และมีมาตรฐานไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการที่ลูกค้าใช้บริการกับร้านอื่นๆ ทั้งใหญ่และเล็กกว่าเรา

วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2553

อยากมีธุรกิจส่วนตัว...แต่กลัวการขายทำอย่างไรดี

มีคนจำนวนมากที่อยากทำธุรกิจส่วนตัวมากๆ อยากเป็นอิสระจากชีวิตที่อยู่ในกรอบของเวลา และการทำงานให้กับผู้อื่นอย่างไม่มีจุดมุ่งหมายให้กับตัวเอง

แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถออกมาสร้างธุรกิจของตนเอง หรือทำกิจการส่วนตัวได้เพราะปัญหาส่วนตัวเรื่อง...1. กลัวการสื่อสาร 2. ไม่ชอบการสนทนากับคนแปลกหน้า 3. ไม่ชอบการต้องพูดคุยเพื่อชักชวนให้ผุ้อื่นซื้อสินค้าหรือเปิดรับบริการของเรา 4. กลัวการค้าขาย

ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาปรกติของบุคคลทั่วไปที่ไม่คุ้นเคยกับการค้าขาย และมีบุคลิกเรียบง่ายไม่ชอบสังคม หรือติดต่อสื่อสารกับผู้คนจำนวนมาก

วิธีแก้ไขปัญหานี้สามารถทำได้คือ
1. หลีกเลี่ยงธุรกิจที่ต้องใช้การสื่อสารเป็นหลักในธุรกิจ เช่น การค้าขายต่างๆ และธุรกิจบริการ โดยหันไปลองเริ่มต้นกับธุรกิจอื่นๆ ที่อาจใช้การสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต อาทิ
1.1 การสร้างร้านค้าออนไลน์ให้มีการสั่งซื้อสินค้าผ่านตะกร้าสินค้า หรือการติดต่อผ่าน e-mail ซึ่งไม่ต้องมีการเผชิญหน้า ก็น่าจะได้ผลดีสำหรับผู้ที่ไม่ชอบการสนทนาแบบเผชิญหน้า
1.2 ธุรกิจหรือร้านค้า เช่นร้านรับพิมพ์งาน ถ่ายเอกสาร ถ่ายภาพดิจิตอล ขายของชำ หรือสินค้าลักษณะเฉพาะที่ลูกค้าจำเป้นต้องใช้งานอยู่แล้วโดยไม่ต้องชักจูงใจ ซึ่งแม้มีการเผชิญหน้าและพุดคุยกับลูกค้าบ้างแต่ก็เป็นการสื่อสารระยะสั้น และลูกค้าที่เข้ามามีจุดมุ่งหมายในการทำงานอยู่แล้ว จึงไม่ต้องใช้ทักษะในการชักจูงใจ ซึ่งสร้างความลำบากใจแก่ผู้ไม่คุ้นเคย

2. ฝึกฝนและเพิ่มทักษะในการสนทนาและการขาย โดยเริ่มจากการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการทำธุรกิจเป็นของตนเอง โดยให้นึกถึงประโยชน์ของการมีธุรกิจเป็นของตนเอง อาทิ มีรายได้สูงกว่าการทำงานประจำ เป็นเจ้านายตนเอง มีอิสระทางความคิดและการบริหารการเงิน และสามารถตัดสินใจดำเนินงานได้ด้วยตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นแรกกระตุ้นให้เราเกิดกำลังใจในการเผชิญหน้ากับสิ่งไม่คุ้นเคยต่างๆ ได้ แรงกระตุ้นเหล่านี้เราจะพบเห็นได้เสมอกับงานประเภท ธุรกิจขายตรงที่นำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่างๆ ทั้งด้านการเงิน ความก้าวหน้า และความมั่นคงในอนาคตมาเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้เข้าอบรมเกิดแรงใจในการเริ่มต้นธุรกิจดังกล่าว ซึ่งเราสามารถนำมาปรับใช้กับการเริ่มต้นธุรกิจของเราได้เช่นเดียวกัน แถมธุรกิจส่วตัวของเราเราติดดาวให้ตัวเองได้ด้วย ตั้งเป้าหมายไว้ได้กำไรเท่านี้ได้3 ดาว เพิ่มขึ้นอีกได้ 5 ดาว มากขึ้นไปอีกได้มงกุฎ ได้มรกต ได้เพชร ได้ดับเบิ้ลบิ๊กเพชร ตั้งเป้าหมายไว้แล้วทำให้ได้ตามเป้าตั้งไว้ด้วยตัวเอง แล้วให้รางวัลตัวเองเสียเลยเมื่อทำสำเร็จ อิอิ

ขอให้ผู้เริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวพิจารณาบุคลิกของตนเองว่าเหมาะกับงานประเภทใดและควรเลือกแนวทางใดในการเริ่มต้นธุรกิจ หากเลือกแนวทางที่เหมาะธุรกิจย่อมดำเนินไปได้ด้วยดีเช่นกัน

กรณีน้องคนหนึ่งเป็นคนชอบเล่นเกมออนไลน์ และเข้าเว็บไซต์สนทนาต่างทางอินเตอร์เน็ต แต่เป็นคนไม่ชอบทำงานบริษัทเนื่องจากเคยทำงานแล้วมีปัญหาเรื่องการเดินทางไกล และไม่ชอบสังคมระดับชั้นในที่ทำงานจึงหันมาทำธุรกิจขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งได้รับความสำเร็จจากธุรกิจจำหน่ายสินค้าออนไลน์ค่อนข้างดี ทั้งนี้ตลาดขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ตยังสามารถเติบโตได้อีกค่อนข้างสูง ขอเพียงผู้สนใจศึกษาหาข้อมูลและตั้งใจจริงในการเริ่มต้นความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกล

วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2553

SMEs ต้องรู้เรื่องเงิน

การจะเป็นเจ้าของกิจการได้นั้นไม่ว่าจะเป็นกิจการขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ความรู้ในเรื่องผลิตภัณฑ์ที่เราเป็นเจ้าของเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งความรู้ในการจัดการทั้งระบบการเงิน และระบบจัดการสินค้าก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

ความรู้ที่กล่าวถึงจึงไม่ใช่ระดับการศึกษาที่เราเรียนจบมา แต่เป็นเรื่องของความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และความรู้ในการเรื่องของการจัดการธุรกิจ

เจ้าของกิจการจำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการทำบัญชีเบื้องต้น อาทิ รายรับ รายจ่าย ต้นทุนสินค้า ขอให้มีการจดบัญชีสม่ำเสมอแยกส่วนของต้นทุนการค้า รายได้ กำไร และค่าใช้จ่ายนอกเหนือ โดยแยกต่างหากอย่างชัดเจนกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตปรกติ เนื่องจากบ่อยครั้งที่พบปัญหาว่าธุรกิจขนาดเล็ก ตัวเจ้าของมักใช้เงินทุน เงินรายได้ และเงินที่ใช้ดำเนินชีวิตปรกติ เป็นเงินก้อนเดียวกัน ซึ่งหลายครั้งเกิดปัญหาเมื่อนำเงนไปใช้จ่ายจะทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจ ไม่มีเงินสำหรับลงทุนซื้อสินค้าเข้าร้าน

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการนำเงินไปใช้นอกเหนือจึงสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการกันเงินออกเป็นส่วนๆ อย่างชัดเจน โดยแยกออกเป็น 1) เงินทุน คือ เงินที่ใช้สำหรับใช้จ่ายเพื่อผลักดันธุรกิจของเราให้ดำเนินได้อย่างราบรื่น ประกอบด้วย เงินสำหรับซื้อสินค้า ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์เครื่องมือในการประกอบกิจการ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของเรา 2) เงินกำไรของการประกอบกิจการซึ่งจะเป็นเงินรายได้ที่หักลบกับต้นทุนการค้าแล้วเหลือเป็นส่วนของกำไร ซึ่งเงินส่วนกำไรนี้เองที่เราจะถือเป็นเงินส่วนที่จัดสรรไปใช้จ่ายในเรื่องอื่นๆ เพื่อความสะดวกสบาย หรือค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากการดำเนินกิจการได้

โดยปรกติเงินในส่วนกำไรนั้นผู้ประกอบกิจการขนาดเล็กทั่วไปนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ 1. 30% นำกลับไปรวมกับเงินส่วนต้นทุนเพื่อเพิ่มทุนของกิจการให้มีสภาพคล่องที่ดียิ่งขึ้น และสามารถนำไปจัดซื้อสินค้า หรือขยายกิจการให้มากขึ้น 2. 20% เป็นเงินออมเพื่อเก็บเป็นเงินใช้ยามฉุกเฉิน หรือเป็นเงินก้อนสำหรับลงทุนระยะยาว 3. 50% ใช้เป็นเงินค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเจ้าของกิจการ อาทิ ค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน ค่าท่องเที่ยว หรือค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ

หากเจ้าของธุรกิจ SMEs สามารถแยกสัดส่วนของเงินและทำบัญชีการใช้จ่ายอย่างง่ายๆ ได้อย่างต่อเนื่องเพียงไม่นานก็จะสามารถประเมินธุรกิจที่ทำได้ว่าให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ อีกทั้งจะเห็นแนวโน้มของธุรกิจว่ามีอนาคตที่ดีหรือไม่ดี

โดยส่วนใหญ่ผลกำไรของการค้าขายสินค้าในทุกระดับจะมีผลตอบแทนที่ค่อนข้างดี แต่อย่างที่กล่าวมาแล้วปัญหาหลักที่ทำให้ธุรกิจเหล่านั้นดำเนินได้ไม่นานก็คือ การนำเงินทุนไปใช้จ่ายรวมกับยอดเงินอื่นๆ จนในที่สุดเงินทุนก็ถูกใช้ไปหมด และธุรกิจก็หยุดชะงักและต้องหยุดดำเนินการในที่สุด การแก้ไขปัยหาที่เด็ดขาดและได้ผลคือต้องแยกทำปัญหาต้นทุน กำไร ออกจากกันให้ชัดเจน

วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2553

ลดค่าใช้จ่ายของธุรกิจ..ด้วยของมือสอง

การเปิดธุรกิจใหม่ของเรามีค่าใช้จ่ายจิปาถะมากมาย หลายครั้งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดไว้ก่อน และหากเราสามารถหาวิธีการลดค่าใช้จ่ายที่จำเป็นบางอย่างลงได้ก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายหลักๆ ลงได้อีกมากมาย

เราสามารถลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ลงได้บางส่วนด้วยการใช้อุปกรณ์มือสอง หรือเครื่องใช้ที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว ที่สามารถหาซื้อได้ในราคาที่ถูกลงจากสินค้าใหม่กว่า 50%

อุปกรณ์หรือเครื่องมือเครื่องใช้บางอย่างเราจำเป็นต้องใช้ของใหม่ อาทิ ถ้วย แก้ว จาน ช้อน คอมพิวเตอร์ หรือเครื่องใช้ที่มีการพัฒนาอยู่เสมอ หรือมีความอ่อนไหวต่อการใช้งาน แต่อุปกรณ์บางอย่างสามารถใช้ของมือ 2 ได้อย่างดีแถมราคาถูกกว่าของใหม่มากๆ อาทิ เก้าอี้ โต๊ะ ป้ายไฟประดับร้าน ตู้โชว์กระจก เครื่องซีนความร้อน เป็นต้น

สินค้ามือ 2 เหล่านี้สามารถหาซื้อได้ในอินเตอร์เน็ต ที่มีผู้มาประกาศขาย โดยให้เราพิจารณาเปรียบเทียบจากราคาของใหม่ว่าแตกต่างกันอย่างที่เรารับได้หรือไม่ นอกจากนี้ให้ผู้ซื้อพึงระลึกอยู่เสมอว่าของที่ขายในอินเตอร์เน็ตเป็นของที่อยู่ในอากาศ ดังนั้นควรมีการนัดดูสินค้าและทดลองสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อจริง ตัวอย่าง เว็บไซต์ขายสินค้ามืองสองที่มีชือ่เสียง อาทิ www.2hand-dd.com/pong,http://www.thaisecondhand.com/, http://www.pramool.com/

นอกจากหาซื้อทางอินเตอร์เน็ตแล้วยังมีตลาดขายสินค้ามือสองที่ขึ้นชื่ออีกแห่งหนึ่ง คือ ตลาดคลองถม ที่เหล่าพ่อค้าขายของเก่าจะนำสินค้าจากหลากหลายที่มารวมตัวกันจัดจำหน่ายในคืนวันเสาร์ จนถึงวันอาทิตย์ตลอดทั้งวัน ซึ่งหากตั้งใจเดินดูของโดยสังเกตสินค้าที่นำมาวางขายให้ดีแล้วผู้ซื้อจะได้สินค้าที่มีคุณภาพใช้ได้ดีกับการเริมต้นธุรกิจของท่าน

ธุรกิจ SMEs หลายแห่งได้เครื่องใช้ที่สวยงามไปตกแต่งร้าน และอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชิ้นไปเริ่มต้นธุรกิจในราคาถูก ซึ่งนับว่าช่วยทุ่นค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างดี

ธุรกิจของผู้เขียนเองเมื่อตอนเริ่มต้นก็ได้ป้ายอะคิลิคมาทำป้านร้านในราคา 200 บาท ได้เครื่องเคลือบร้อน-เย็นขนาดปานกลางในราคา 1,500 บาท เครื่องซีนความร้อนราคา 200 บาท ของเหล่านี้ได้มาจากตลาดคลองถมทั้งหมด

**นอกจากเป็นแหล่งซื้อสินค้าราคาถูกแล้วหากบางท่านสนใจจะไปทดลองขายสินค้าของท่านที่ตลาดคลองถมก็นับเป็นเรื่องที่ดี โดยให้สังเกตพื้นที่ที่อยู่ไกลจากแหล่งศูนย์กลาง (เพราะมีเจ้าของที่) ลองถามพ่อค้า-แม่ค้าใกล้เคียงแถวนั้นว่าวาสามารถวางขายของได้หรือไม่ มีเจ้าของไหมลองวางดูสักพักหากมีเจ้าของที่มาก็ขยับหาที่ใหม่

ขายของที่คลองถมก็สนุกดีเหมือนกันเพราะผู้เขียนก็เคยไปลองขาย นำหนังสือเก่าๆ ไปขาย 2 ทุ่ม - 5 ทุ่มก็ได้สตางค์ก้กลับได้สตางค์ครั้งละ 2,000-3,000 บาท แต่ที่ต้องระวังคือที่เก่าๆ จะมีเจ้าของที่ ก่อนวางขายก็ต้องสังเกตให้ดีหาที่ว่างๆ ไกลๆ หน่อยก็ได้เพราะคนเดินถึงหมดไม่ว่าไกลแค่ไหน และไม่ควรนำสินค้าไปมากเนื่องจากพื้นี่จะน้อยและอาจต้องมีการขยับเคลื่อนที่เมื่อมีเจ้าของที่มานั่นเอง

วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2553

SMEs ต้องมีนามบัตร

คุณเคยใช่ไหมไปติดต่อหาซื้อสินค้า เดินดูจนถูกใจแต่สินค้าชิ้นนี้เราไม่ได้จะใช้เวลานี้แต่จะใช้ในอนาคต ขอนามบัตรเจ้าของร้านไปและได้เป็นเศษกระดาษจดเบอร์โทรศัพท์กลับมา

ไม่ใช่ว่าดูไม่ดี แต่มันไม่คงทนต่างหาก ลองคิดดูว่าเราได้กระดาษจดที่อยู่ จดเบอร์โรศัพท์แบบนี้มาบ่อยครั้งแค่ไหน แล้วเราทำมันหายไปบ่อยหรือไม่ โดยส่วนใหญ่เก็บไว้ได้ไม่นานก็หายไป ได้ใช้ประโยชน์กันจริงๆ

ในทางตรงกันข้ามหากได้รับมาเป็นนามบัตรเราจะสามารถสอดในกระเป๋าสตางค์เราได้สะดวก หรือเก็บไว้ในกล่องที่ใช้ใส่นามบัตรเฉพาะ เมื่อจำเป็นต้องใช้เราก็จะหามาใช้ได้อย่างสะดวก

ธุรกิจของเราก็เช่นเดียวกัน จำเป็นที่สุดที่ต้องมีนามบัตรที่ใช่ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ให้ชัดเจน

ส่วนเรื่องความสวยงามนั้นถามว่าจำเป็นไหม ความสวยงามให้นับเป็นเรื่องรองๆ ในจุดประสงค์ของการทำนามบัตรสำหรับธุรกิจ SMEs ของเรา กล่าวคือถ้าสวยงามได้ก็ดี แต่ถ้าไม่สวยงามก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็น

เมื่อตอนครั้งผู้เขียนยังเรียนหนังสืออยู่ ครอบครัวของผู้เขียนออกงานแสดงสินค้าภาคเกษตรบ่อยๆ ตามงานแสดงสินค้าของส่วนราชการที่ให้กลุ่มแม่บ้านภาคเกษตร และร้านค้า SMEs ได้มาออกร้าน ในช่วงก่อนยุค OTOP เสียอีก พบปัญหาว่าแม่ค้ามือใหม่จากกลุ่มแม่บ้านภาคเกษตรทั้งหลายไม่มีนามบัตรสำหรับแจกแก่ลูกค้า เมื่อลูกค้าสนใจจะสั่งสินค้าจำนวนมากและขอนามบัตรก็มีปัญหาต้องจดเบอร์โทรศัพท์ใส่เศษกระดาษให้ลูกค้าไป ซึ่งหากลูกค้าไม่ทำหายไปเสียก่อนก็คงได้ติดต่อค้าขายกัน น้องสาวของผู้เขียนที่ทำนามบัตรใช้กันเองอยู่แล้วก็หัวใสรับจ้างทำนามบัตร ได้เงินจำนวนไม่น้อยจากงานทำนามบัตรให้พ่อค้า แม่ค้าที่มาออกงาน

ตัวผู้เขียนเองก็มีนิสัยไม่เก็บเศษกระดาษ ดังนั้นหากได้เบอร์โทรศัพท์ที่จดมาในเศษกระดาษก็จำเป็นต้องรีบจดลงสมุดทันที เพราะไม่อย่างนั้นก็คงทำหายหาไม่เจอแน่นอน หากได้มาเป็นนามบัตรจะมีกล่องหยอดนามบัตรเก็บไว้เฉพาะหากจำเป็นต้องใช้ก็ไปค้นๆ หามาใช้งาน

หากต้องการประหยัดสตางค์เรื่องค่าทำนามบัตร เจ้าของกิจการ SMEs แสนฉลาดอย่างเราก็ไปทำตรายางไว้ได้เลยให้ได้ขนาดเท่านามบัตร จากนั้นหาซื้อกระดาษแข็งขนาด A4 ราคาแผ่นละ 3-4 บาท มาตัดให้เท่าขนาดนามบัตรและปั๊มตรายาไว้แจกลูกค้าได้ในราคาประหยัด

ขอให้จำไว้ว่านามบัตรช่วยเรื่องความสะดวกในการติดต่อการค้าเป็นสำหคัญ หากทำนามบัตรสวยได้ก็เป็นเรื่องดี ...แต่หากมีข้อจำกัดเรื่องการเงินก็ไม่ต้องคำนึงเรื่องความสวยงาม....แต่ขอให้มีนามบัตรติดไว้เมื่อลูกค้าขอนามบัตรให้สามารถยื่นให้ได้ทันที

ผู้นับสนุนบทความ
http://astore.amazon.com/canvas.frame.paint.art-20

วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

SMEs ต้องมีโลโก้

ธุรกิจขนาดเล็กของเราเมื่อตั้งชื่อกันแล้วก็ต้องคิด Logo ไว้ด้วย เพื่อสร้างแบรนด์ (Brand) หรือตราสินค้าให้กับสินค้าของเรา ถึงแม้บางท่านจะบอกว่าเราไม่ได้ขายของนะ **ยิ่งไม่ใช้ธุรกิจเกี่ยวกับการค้าขายแล้วตราสินค้ายิ่งจำเป็นสำหรับเราเป็นอย่างยิ่ง เพราะ Logo ของเราจะทำให้ลูกค้าจำได้ว่านี่คือร้านที่เขาต้องการมาซื้อแบบเฉพาะเจาะจง ไม่ใช่มาใช้บริการหรือสินค้าแบบนี้ที่ร้านไหนๆ ก็ได้

Logo ของร้านหรือสินค้าของเราจะทำให้ร้านของเรามีเอกลักษณ์แตกต่างจากร้านอื่นๆ และสามารถสร้างความจดจำของลูกค้าต่อร้านเราได้ดียิ่งขึ้น

ดังนั้นเราจึงมักเห็นว่าป้ายชื่อสินค้ามักมีรูปภาพของสินค้าประกอบอยู่ด้วยเสมอเพื่อให้ดึงดูดสายตาผู้พบเห็น และเป็นการย้ำให้ลูกค้ารู้ว่าธุรกิจประเภทนี้ทำการค้าเกี่ยวกับสินค้าประเภทใด อาทิ ร้านคอมพิวเตอร์ ก็มักจะมีโลก้เป็นรูปคอมพิวเตอร์ ร้านหน้าสือโลโก้รูปหนังสือ ร้านจัดสวนโลโก้รูปต้นไม้ เป็นต้น

นอกจากช่วยดึงดูดสายตามผู้พบเห็นแล้ว Logo สินค้ายังช่วยให้ลูกค้าจดจำร้านค้าและธุรกิจของเราได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบและสีสรรของ Logo ที่เราเลือกใช้ บางร้านเลือก Logo ง่ายๆ เป็นอักษรย่อของร้าน บางครั้งใช้รูปภาพ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความของของเจ้าของธุรกิจเอง

Logo ไม่เพียงนำไปใช้ติดกับป้ายชื่อร้าน-ธุรกิจของเราเท่านั้นหากแต่ยังนำไปใส่ในนามบัตรของเราด้วยเพื่อตอกย้ำการจดจำของลูกค้าต่อกิจการของเราใด้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

ทั้งนี้นิตยสาร Thai Brand Marketing (อ้างถึงใน Google กูรู, 2553 : ออนไลน์) ได้กล่าวถึงเคล็ดลับการออกแบบโลโก้ 10 ข้อคือ
1.เน้นความเรียบง่ายเป็นหัวใจหลัก ขอให้ระลึกไว้ว่า โลโก้เป็นบันไดเพียงขั้นหนึ่ง ท่านไม่อาจให้คำอธิบายแผนงานธุรกิจของท่านทั้งหมดบนบันไดเพียงขั้นเดียว
2.ดึงดูดใจผู้พบเห็น และควรมีที่ว่างให้ผู้พบเห็นค้นหาความหมายที่ต้องการสื่อออกมา ทางโลโก้นั้นด้วยตนเองบ้าง ทั้งนี้ต้องดูไม่ยากเกินไปด้วย
3. มองไปข้างหน้า คิดถึงความยั่งยืนของโลโก้
4. ใช้ภาพลายเส้นที่สะอาดตาชัดเจน ไม่ใช้สีมาก ให้ตัดกัน ( contrast ) และความสมดุลย์ ( balance) ในตัว
5. มีความยืดหยุ่น พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
6. จดจำได้ง่าย
7. สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ โลโก้จะต้องออกมาทำให้ลูกค้าสามารถจินตนาการถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการของท่านได้ง่ายด้วย
8.เลือกสีอย่างสร้างสรรค์ เลือกสีโลโก้ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย และไปได้บนวัสดุต่าง ๆ เช่นนามบัตร หรือกระดาษซองจดหมาย
9. มีเอกลักษณ์เฉพาะตน เจ้าของกิจการควรทำวิจัยธุรกิจและกลุ่มเป้าหมายก่อนที่จะออกแบบโลโก้ เพื่อให้ทราบถึงลักษณะของธุรกิจเพื่อให้โลโก้ของท่านไม่ไปคล้ายคลึงกับของผู้อื่น
10. ใช้ได้ในทุกลักษณะ โลโก้ที่ดีควรใช้ได้ในทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นบนป้ายหัวกระดาษเขียนจดหมาย นามบัตร ตัวสินค้าหรือเว็บไซต์ บางครั้ง โลโก้สามารถใช้ได้ดีบนเว็บไซต์หรือบิลบอร์ด แต่ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้บนปากกาหรือถ้วยกาแฟ เพราะฉะนั้นท่านควรคำนึงถึงจุดนี้ด้วย เนื่องจากในการสร้างความจดจำในแบรนด์นั้น ท่านจะต้องเผยแพร่ ท่านจะต้องเผยแพร่โลโก้และภาพลักษณ์ของท่านให้สม่ำเสมอที่สุดเท่าที่จะทำได้


เอกสารอ้างอิง
Google กูรู. 2553. ประโยชน์ของโลโก้คือ. ออนไลน์. เข้าถึงได้จาก
http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=590d9151c4b82f0e

วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553

SMEs ต้องมีชื่อกิจการ

SMEs อย่างเราถึงจะเป็นธุรกิจเล็กๆ แต่ก็ต้องมีชื่อร้านเหมือนกันนะ แหมก็ถ้ามีลูกค้าประจำเขาจะได้เรียกกันถูกว่าชื่อร้านอะไร เดี๋ยวเขาไม่รู้ชื่อร้านเราแล้วไปบอกว่า "ร้านขายลูกชิ้นหน้า เซเว่น" คนฟังอาจจะซื้อลูกชิ้นผิดร้านได้นะเออ ^^

การตั้งชื่อร้าเราต้องพิจารณาขนาดกิจการของเรา และลักษณะกิจการของเราด้วยว่าเป็นเช่นไร ถ้าร้านของเราไม่ใช้ร้านใหญ่โตอะไรการตั้งชื่อก็ไม่ต้องเป็นทางการมากก็พอได้ แต่หากเป็นร้านค้าที่ต้องการไปขายในห้างสรรพสินค้า หรือมีลูกค้าเป็นห้างร้านบริษัท การตั้งชื่อก็ต้องดูน่าเชื่อถือตามกลุ่มลูกค้าของเราไปด้วย

ทั้งนี้การตั้งชื่อร้านให้เริ่มมองจากชนิดของธุรกิจของเรา
- อาจตั้งชื่อตามสินค้าแล้วต่อด้วยชื่อเรา เช่น "ลูกชิ้นน้องแพน" "น้ำพริกครูอ้วน" "ส้มตำป้าป๊อก" "เครื่องเขียนลุงดาว"
- ตั้งชนิดสินค้าตามด้วยชื่อสถานที่ เช่น "ก๋วยเตี๋ยวรามอินทรา" "ราดหน้าไทรน้อย" "ผัดไทยท่าเตียน"
- ตั้งชื่อตามชนิดสินค้า + คำที่ดูมีเอกลักษณ์ เช่น ชายสี่หมี่เกี๊ยว น้ำพริกอินเตอร์ ก๋วยเตี๋ยวท่าสยาม
- ตั้งแบบฟรีไตล์ คือ จะตั้งชื่อใดๆ ก็ได้ตามใจเจ้าของกิจการแต่ให้คำนึงถึงการจดจำของผู้ซื้อว่าให้เขาจำร้านเราได้ง่ายๆ เช่น ร้านสีฟ้า (ร้านอาหาร) ร้านสโนว์บอล (ร้านเครื่องเขียน) ร้าน เปา เปา เยาวราช (ร้านกิ๊ฟช็อบ)

การตั้งชื่อที่ดีจะสามารถทำให้ลูกค้าจดจำร้านค้าและธุรกิจของเราได้เป็นอย่างดี อีกทั้งสามารถสร้างการตอบรับและความต้องการซื้อได้ในขณะเดียวกัน ลองคิดดูว่าเราเดินผ่านตลาดขณะกำลังหิวหันไปเห็นร้านผัดไทยร้านใหม่ ชื่อร้าน "ผัดไทยอันดามัน" เราก็คงต้องจินตนาการถึงกุ้ง ปลาหมึก ตัวใหญ่ๆ ที่จะอยู่ในผัดไทยที่ร้านนั้นขายอยู่ ถ้าเราคิดอยากทานผัดไทยอยู่แล้ว ระหว่างร้านผัดไทยกุ้งสด กับร้านผัดไทยอันดามัน เราคงต้องขอลองผัดไทยอันดามันก่อน ด้วยชื่อที่ดึงดูดใจนั่นเอง

นอกจากนี้จากที่กล่าวในตอนแรก หากร้านของเราจำเป็นต้องเจาะกลุ่มลูกค้าระดับห้างร้าน บริษัท แล้วนั้นจำเป็นต้องใช้ชื่อให้ดูเป็นทางการ น่าเชื่อถือ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะตั้งชื่อโดยใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ที่เราจัดจำหน่ายเป็นหลัก หรืออาจจะใช้ชื่อเจ้าของกิจการร่วมอยู่ด้วย บางครั้งก็ใช้ชื่อภาษาอังกฤษเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น ตัวอย่าง ร้านสุวรรณการพิมพ์ ร้านเบญวรรณมาร์เกตติ้ง ร้าน ART & PRINT เป็นต้น

เทคนิคการตั้งชื่ออีกข้อหนึ่งที่ควรทำคือ ให้เจ้าของธุรกิจลองตั้งชื่อไว้หลายๆ ชื่อ แล้วคัดชื่อที่ชอบมากที่สุดสัก 5 ชื่อ จากนั้นนำไปให้เพื่อนๆ ญาติ คนรู้จักเลือกว่าเขาเหล่านั้นชอบชื่อไหนมากที่สุด หลังจากนั้นจึงนำมาพิจารณาอีกครั้งว่าชื่อไหนที่คนส่วนใหญ่ชอบ ซึ่งน่าจะแสดงว่าในอนาคตเมื่อเราเปิดกิจการชื่อที่มีคนชอบมากที่สุดลูกค้าของเราก็น่าที่จะชอบชื่อนี้ด้วยเช่นกัน วิธีนี้นับเป็นการใช้หลักการทำวิจัยธุรกิจมาใช้กับการเลือกชื่อร้านตามสัดส่วนความชอบของกลุ่มตัวอย่างนั่นเอง

วันจันทร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2553

SMEs ธุรกิจขนาดเล็กอย่างเรา...ต้องจัดแต่งหน้าร้านให้น่าซื้อ

การจัดวางสินค้าและหน้าร้านให้ดูโดดเด่นและมีเอกลักษณ์สามารถส่งผลให้ผู้ซื้อหันมาให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ของเราได้ โดยอาจศึกษาจากตำรา-หนังสือ-นิตยสารต่างๆ เกี่ยวกับการจัดวางสินค้า ตกแต่งร้าน หรือลองสังเกตจากร้านค้าอื่นๆ ที่มีลักษณะการจัดจำหน่ายสินค้าคล้ายคลึงกับสินค้าของเรา

เบื้องต้นการจัดวางสินค้าควรมีระเบียบเรียบร้อย สามารถหยิบจับได้สะดวก ต่อมาคือความสวยงามของหน้าร้าน สีสัน รูปแบบ รวมไปถึงการนำสิ่งของต่างๆ มาประดับให้ร้านค้าดูสวยงามน่าเข้ามาซื้อของ และสุดท้ายคือความสะอาดสะอ้านของร้านค้าของเรา

โดยวิธีการจัดหน้าร้านลักษณะนี้สามารถนำไปปรับรูปแบบให้เหมาะสมได้กับธุรกิจร้านค้าขนาดเล็กได้ทุกๆ แบบ ทั้งสินค้าประเภทอาหาร กิ๊ฟช็อบ ออฟฟิชขนาดเล็ก รวมไปถึงร้านเช่าหนังสือ - ซีดี-ดีวีดี

ความสะอาดและสุขอนามัยมักถูกมองไว้เป็นอันดับท้ายๆ เสมอในธุรกิจทุกระดับ โดยเราจะได้ข่าวเสมอเรื่องการถูกร้องเรียนเรื่องความสะอาดของร้านจำหน่ายอาหารทั้งขนาดใหญ่และเล็ก เป็นข่าวดังบ้างข่าวเล็กบ้าง เป็นระยะๆ ดังนั้นหากเราดำเนินธุรกิจของเราเอง แม้เราจะไม่ได้จำหน่ายอาหารหรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัย เราก็จำเป็นต้องพึงระลึกว่าความสะอาดเป็นสิ่งจำเป็นเป็นอันดับแรก ก่อนความสวยงามเสียด้วยซ้ำ หรือถ้าสามารถดำเนินไปพร้อมกันได้ทั้งความสะอาด ความมีระเบียบ และความสวยงาม ก็ยิ่งเป็นผลดีกับเรายิ่งขึ้น

เมื่อร้านค้าของเรามีความสะอาดดีแล้ว ต่อมาคือความสวยงามและมีจุดเด่น หลายท่านคิดขึ้นมาว่าจุดเด่นหาได้อย่างไรกันเล่า ก็ต้องพิจารณาจากสินค้าที่เราขายอยู่นั่นเองว่าเป็นสินค้าอะไร จากนั้นก็ให้คิดว่าหากเราเป็นลูกค้าเราจะสนใจร้านค้าที่ขายของและจัดร้านแบบไหน ลองร่างความคิดของเราในกระดาษและลองนำมาจัดร้านจริงๆ

ตัวอย่างร้านค้าที่สร้างเอกลักษณ์ให้กับตนเองให้มีจุดเด่นและส่งผลให้สินค้าขายดีอย่างต่อเนื่อง ผู้เขียนนึกถึงร้านจำหน่ายลูกชิ้น ไส้กรอก บาบิคิว หมูปิ้ง ลักษณะอาหารซื้อแล้วเดินทานตามปรกติ **แล้วเขามีจุดเด่นตรงไหนหรือ... ร้านนี้แตกต่างจากร้านขายลูกชิ้น ไส้กรอกทอดปรกติตรงที่ 1) คัดเลือกสินค้าเกรดสูงกว่าปรกติทั้งลูกชิ้น ไส้กรอก และเนื้อหมู เนื้อไก่ สำหรับนำมาทำบาบิคิวจำหน่าย 2) ไม้เสียบลูกชิ้นของร้านนี้ใช้ไม้ขนาดใหญ่กว่าปรกติที่เรามักเห็นอยู่ทั่วไปที่มีขนาดเล็ก ทำให้เพิ่มความน่าจับและมองดูว่าลูกชิ้นแต่ละไม้มีขนาดใหญ่กว่าปรกติ 3) ถาดสำหรับวางลูกชิ้น ไส้กรอก ฯลฯ เป็นถาดสแตนเลสอย่างดีสะอาดสะอ้านมองแล้วน่าซื้อและดูน่ารับประทาน 4) โต๊ะวางสินค้าล้อมด้วยผ้าปูโต๊ะเหมือนซุ้มขายอาหารตามห้างสรรพสินค้า เพียงเท่านี้ก็ทำให้ร้านนี้มีลกค้าให้ความสนใจเข้าไปซื้อลูกชิ้น ไส้กรอก และบาบิคิวกันล้นหลาม โดยไม่เกี่ยวกับราคาที่สูงกว่าร้านขายอาหารประเภทเดียวกันที่ราคาถูกกว่า โดยที่ทุกๆ ข้อที่ร้านค้าแห่งนี้จัดทำเพิ่มขึ้นทั้งเกรดของลูกชิ้น ไม้เสียบ ถาดแสตนเลส และผ้าคลุม ไม่ได้เพิ่มต้นทุนของการขายสินค้ามากมากอะไรเลย แต่สิ่งเหล่านี้แสดงถึงความใส่ใจและการมองความต้องการของลูกค้าเป็นหลักมากกว่ามองจากมุมมองของฝั้งผู้ขายเป็นสำคัญ

ร้านค้าแห่งนี้อยู่ที่ตลาดนัดสวนจตุจักรโครงการ 21 ผู้เขียนได้เคยไปมาเมื่อ 3 ปีก่อนไม่ทราบว่าปัจจุบันยังคงขายอยู่หรือไม่ นอกจากนี้หากอยากดูต้นแบบการจัดหน้าร้านที่สวยงามและมีเอกลักษณ์สามารถเดินดูในตลาดนัดสวนจตุจักรได้ เพราะร้านค้าส่วนใหญ่จัดร้านได้น่าซื้อเช่นกัน