วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554

นำอดีตมาใช้ประโยชน์..ในธุรกิจ

เชื่อว่าเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ต้องเคยผ่านประสบการการทำงานในองค์กรต่างๆ มาก่อนที่จะเริ่มสร้างธุรกิจของตนเอง ดังนั้นทุกคนล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์การทำงานที่มีประโยชน์ต่อการทำธุรกิจของท่านในปัจจุบันอย่างแน่นอน ถึงแม้ธุรกิจในปัจจุบันของเราจะไม่ใช้ธุรกิจรูปแบบเดียวกับองค์กรที่เคยทำงานมาในอดีตเลยก็ตาม

ยกตัวอย่างเพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่งในปัจจุบันได้เปิดกิจการเล็กๆ ทำงานด้านบริการสิ่งพิมพ์ แต่ด้วยความที่เคยทำงานในแวดวงราชการและองค์กรเอกชนทางการศึกษาขนาดใหญ่ ซึ่งแม้ในขณะที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานนั้นๆ เขาจะเป็นเพียงตัวจักรเล็กๆ ในองค์กร แต่เขาก็ได้ทราบระบบระเบียบการติดต่องาน และรูปแบบการดำเนินการติดต่องานของระบบราชการและหน่วยงานทางการศึกษา ทำให้เมื่อออกมาทำธุรกิจส่วนตัวเขาสามารถติดต่อรับงานกับหน่วยงานราชการ และสถานศึกษาทั้งราชการและเอกชนเป็นหลัก ด้วยเข้าใจระบบระเบียบการทำงานต่างๆ ของหน่วยงานดังกล่าวได้ดี ซึ่งทำให้การทำงานได้ราบรื่นและสามารถติดต่อสื่อสารได้ดี นี่คือตัวอย่างของการนำประสบการณ์การทำงานในอดีตมาใช้กับการทำธุรกิจของเราในปัจจุบัน

แม้บางครั้งเราเองจะคิดว่าประสบการณ์ในอดีตบางอย่างไม่มีผลกับการทำธุรกิจเลย แต่ในความเป็นจริงแล้วประสบการณ์ทุกประสบการณ์ย่อมส่งผลให้เราเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น และประสบความสำเร็จมากขึ้นทุกๆ ช่่วงเวลาที่เราได้ผ่านประสบการณ์แต่ละประสบการณ์นั่นเอง

ดังเช่นตัวผู้เขียนเองตั้งแต่ครั้งที่เรียนหนังสือจนถึงระดับมหาวิทยาลัยเป็นคนไม่กล้าแสดงออก แต่เมื่อเข้าทำงานภายหลังเรียนจบ หน้าที่การงานทำให้ต้องพบปะกับผู้คนจำนวนมาก หลายครั้งต้องนำผลงานแสดงในงานประชุมทั้งภายในองกรณ์ และภายนอกองค์กร ส่งผลให้เกิดความกล้าแสดงออกมากขึ้น และเข้าใจระบบการสนทนาติดต่อเชิงธุรกิจ เมื่อออกมาดำเนินธุรกิจของตัวเองจึงเป็นผลดีต่อการสามารถติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ได้เป็นอย่างดีไม่มีปัญหาด้านการสื่อสาร

ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าเจ้าของธุรกิจ SMEs ทั้งใหม่และเก่าต่างได้นำประสบการณ์ในอดีตมาเป็นประโยชน์ต่อการทำงานปัจจุบันทั้งสิ้น และส่วนผู้ที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจก็ขอให้ท่านมองหาประสบการณ์ในอดีตที่อาจนำมาเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของเราในปัจจุบันเพื่อเป็นทางลัดสู่การเริ่มต้นธุรกิจ SMEs ของเรา..........

วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

SMEs ต้องมีฉลากผลิตภัณฑ์ไหม


หลายครั้งเมื่อเราตัดสินใจซื้อสินค้าเราตัดสินใจเลืกผลิตภัณฑ์ที่ซื้อจากบรรจุภัณฑ์มากกว่าตัวสินค้าด้านใน ซึ่งธุรกิจขนาดเล็กมักมีปัญหาการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสินค้าของตนเอง ฉลากติดผลิตภัณฑ์หรือสติกเกอร์ติดสินค้าจะช่วยให้ผู้ซื้อจดจำสินค้าของเราได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งหากใส่เบอร์โทรศัพท์และสถานที่ติดต่อไว้ยิ่งสามารถทำให้ลูกค้าติดต่อสั่งซื้อในภายหลังได้อีกด้วย นอกจากนี้หากผู้ขายสามารถทำฉลากติดสินค้าที่มีเอกลักษณ์และดึงดูดความสนใจได้จากสีสันหรือหน้าตาที่โดดเด่นก็จะยิ่งส่งผลให้ผู้ซื้อสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าของเราได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

เจ้าของกิจการ SMEs หลายท่านไม่ได้ทำสติกเกอร์ติดสินค้าด้วยความเชื่อที่ว่าสติกเกอร์ติดสินค้ามีราคาแพง และหาที่จัดทำและจ้างผลิตยาก ผู้ประกอบการบางคนเคยได้ลองไปติดต่อทำสติกเกอร์ติดสินค้ากับโรงพิมพ์แล้วพบว่ามีราคาแพงเกินกว่าที่จะสามารถสั่งผลิตได้ หรือโรงพิพม์บางแห่งก็ต้องมีจำนวนการผลิตจำนวนมากถึงจะสั่งผลิตได้ สาเหตุก็เพราะโรงพิมพ์เหล่านั้นต้องสร้างบล็อคพิมพ์ขึ้นมาก่อนสั่งพิมพ์ด้วยระบบอ็อฟเซ็ทจึงมีต้นทุนการผลิตต่อชิ้นและต่อครั้งมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นเจ้าของกิจการ SMEs ที่ต้องการผลิตฉลากติดสินค้าจำนวนน้อยๆ จึงไม่สามารถสั่งผลิตฉลากเหล่านี้ซึ่งอาจมีหลายขนาดและมีผลิตภัณฑ์ที่ต้องทำฉลากหลายชนิดจากโรงพิพม์ที่ต้องสร้างบล็อคงานพิมพเหล่านี้ได้

จึงมีช่องทางอีกทางหนึ่งที่เหมาะสมกับกิจการขนาดเล็กที่จะสามารถทำฉลากติดผลิตภัณฑ์เป็นของตนเองด้วยราคาที่ถูกลงได้ 2 วิธี คือ

1. ร้านพิมพ์งานทั่วไป
ร้านพิมพ์งานทั่วไปเหล่านี้สามารถรับพิมพ์งานง่ายๆ ด้วยราคาไม่แพง ดังนั้นเจ้าของธุรกิจ SMEs จึงสามารถใช้บริการร้านค้าเหล่านี้ช่วยออกแบบสติกเกอร์ติดสินค้ารูปแบบง่ายๆ ด้วย Microsoft Word และพิมพ์ออกมาด้วยเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ตลงในกระดาษธรรมดาหรือกระดาษสติกเกอร์ที่ปัจจุบันมีราคาไม่แพง โดยสามารถสั่งพิมพ์ในจำนวนน้อยๆ และสามารถสั่งผลิตได้หลายรูปแบบและหลายชนิดผลิตภัณฑ์ ข้อดีคือ สามารถมีฉลากติดผลิตภัณฑ์เป็นของตนเองใส่เบอร์โทรศัพท์และสถานที่ติดต่อให้ลูกค้าติดต่อซื้อได้สะวกในอนาคต ข้อเสียคือ รูปแบบของฉลากสินค้าไม่สามารถออกแบบได้สวยงามเท่าที่สั่งผลิตกับโรงพิพม์จำนวนมากๆ










2. ออกแบบและพิมพ์ฉลากด้วยตนเอง
นอกจากเจ้าของกิจการจะสามารถจ้างร้านรับพิมพ์งานช่วยออกแบบจัดพิมพ์สติกเกอร์ติดสินค้าแล้ว เจ้าของกิจการ SMEs ที่มีคอมพิวเตอร์และสามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ก็ยังสามารถออกแบบและจัดทำฉลากติดสินค้าได้ด้วยตัวเองด้วยโปรแกรม Microsoft Word หรือโปรแกรมอื่นๆ และสั่งพิมพ์ออกมาด้วยเครื่องพริ้นเตอร์ก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกค่อนข้างมาก และสามารถสั่งพิมพ์ได้ตามจำนวนที่ต้องการ อีกทั้งสามารถสั่งพิมพ์เมื่อไรก็ได้



วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

SMEs ต้องมีคุณธรรม

การดำเนินธุรกิจทุกรูปแบบการมีคุณธรรมเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงอยู่เสมอ เพราะธุรกิจของเราจะดำเนินอยู่ได้อย่างยาวนานต้องอาศัยความภักดีของลูกค้าโดยเฉพาะลูกค้าประจำการมีคุณธรรมในการดำเนินการค้าเป็นเรื่องที่ง่ายและพึงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอในธุรกิจทุกรูปแบบ ในขั้นต้นคุณธรรมที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีคือ
1. ความตรงต่อเวลา
กรณีขายของทางอินเตอร์เน็ตมีลูกค้าสั่งสินค้ามานัดลุกค้าไว้วันไหนก็ให้ส่งของตามวันที่ได้ตกลงกับลูกค้าไว้ อย่าล่าช้า หรือหากไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามเวลาที่ลูกค้าต้องการก็ควรแจ้งให้ลูกค้าทราบตั้งแต่ครั้งแรกที่ติดต่อกันเพื่อให้ลูกค้าได้ตัดสินใจว่าจะสั่งซื้อสินค้ากับเราหรือไม่ หากลุกค้ารับได้กับเวลาที่เราส่งของได้ก็จะเท่ากับได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และลูกค้าจะมองว่าเราซื่อตรงและจริงใจกับเขา ส่วนเราตัวผู้ประกอบการก็ไม่ต้องร้อนใจกับการต้องวิตกถึงการส่งสินค้าให้ไม่ทันเวลา

2. ความตรงไปตรงมา
ความตรงไปตรงมาเป็นคุณสมบัติขั้นต้นของผู้ประกอบการทุกระดับจะต้องมี อาทิ ราคาของสินค้า คุณภาพของสินค้า กรณีลูกค้าถามถึงคุณภาพสินค้า คุณสมบัติพิเศษต่างๆ ของสินค้าเรา หากสินค้าเรามีคุณสมบัติพิเศษอย่างไรให้แจ้งลูกค้าอย่างตรงไปตรงมาอย่าเพิ่มเติมเสริมแต่งจนเกินความเป็นจริง อาทิ ขายสมุนไพรทาแก้คันแต่ผู้ขายโฆษณาเกินจริงไปถึงว่าสามารถนำไปใช้เป็นยาแก้รักษาอาการโรคผิวหนังอื่นๆ ได้สารพัดโรค เป็นต้น ซึ่งในระยะสั้นอาจขายสินค้านั้นได้จริงๆ แต่ในระยะยาวเมื่อลูกค้าทราบความจริงอาจบอกต่อกับคนรู้จักให้หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าของเรา แต่ในทางกลับกันหากสินค้าเป็นยาทาแก้คันแล้วเราแจ้งให้ทราบสรรพคุณตามนั้น อีกทั้งใส่คำเตือนไว้ว่าอยากใช้สินค้าผิดวิธีและแนะนำวิธีการใช้อย่างระเอียดสิ่งที่ผู้ประกอบการจะได้กลับมาคือความไว้วางใจในสินค้า รวมไปถึงอาจสามารถขายสินค้าอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้นเพราะความไว้วางใจในตราสินค้าของเราและความซื่อตรงของเรา

3. มีความรับผิดชอบ
หลายครั้งที่มักพบว่าธุรกิจ SMEs บางเจ้าได้รับการชื่นชมจากผู้ใช้บริการว่ามีความรับผิดชอบต่อลูกค้า อาทิ การตรวจสอบสินค้าว่ามีคุณภาพดีก่อนจัดส่ง ความตรงต่อเวลา รวมไปถึงการแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับลูกค้า จุดนี้เองเป็นความแตกต่างระหว่างธุรกิจขนาดย่อม กับธุรกิจขนาดใหญ่เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่มีระบบการรับประกันสินค้าที่ชัดเจนซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือและไว้วางใจจากผู้ซื้อว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นธุรกิจขนาดใหญ่ที่จำหน่ายสินค้าที่มีชื่อเสียงจะสามารถแก้ปัญหาได้ดีกว่าสินค้าแบรนด์เล็กๆ แต่ในขณะเดียวกันถึงแม้เสียเปรียบเรื่องขนาดของกิจการที่ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ แต่หากผู้ประกอบการสามารถดูแลและแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับลูกค้าได้ดีเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็สามารถดูแลสร้างข้อได้เปรียบได้มากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่อันเนื่องจากความคล่องตัว และความใกล้ชิดของผู้ซื้อและผู้ขายนั่นเอง ดังนั้นความรับผิดชอบต่อสินค้าและบริการจึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องให้ความสำคัญ

วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

SMEs กับกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม (Blue Ocean Strategy : BOS) - ภาค 1

ธุรกิจขนาดย่อมได้เปรียบมากในการนำเทคนิคของกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม (Blue Ocean Strategy : BOS) มาใช้เพื่อสร้างความแตกต่างในท้องตลาด ในแง่วิชาการ กลยุทธ์น่านน้ำสีครามเป็นกลยุทธ์ที่เน้นการหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บจากการแข่งขันทางธุรกิจ โดยธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์ดังกล่าวจะไม่สนใจต่อการแข่งขันหรือตัวคู่แข่งขัน กล่าวคือ จะไม่เข้าไปแข่งขันในตลาดหรือสร้างสินค้าเดิมๆ ที่หน้าตา รูปร่าง หรือคุณสมบัติของสินค้าเหมือนกับร้านอื่นๆ แต่จะพยายามสร้างตลาดหรือสินค้าใหม่ๆ และแตกต่างที่ยังไม่มีใครสร้างหรือนำมาใช้เพื่อเจาะตลาดใหม่ และสร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ลูกค้า ดังนั้น หากผู้ประกอบการจะสร้างกลยุทธ์ของตนเองให้เป็นกลยุทธ์แบบ “น่านน้ำสีคราม” เพื่อสร้างโอกาสให้ธุรกิจ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพิจารณาก่อนว่า ธุรกิจของลูกค้าของตนเอง ณ เวลานั้นจะเป็สินค้าที่เจาะกลุ่มลุกค้าชนิดใด พวกเขาซื้อสินค้าหรือบริการด้วย “เหตุผล” ด้วย “ราคาที่ต่ำ” หรือซื้อที่ “ความแตกต่างของผลิตภัณฑ์” จริงๆ แล้วหากแปลความหมายง่ายๆ ก็คือตลาดที่เราขายของอยู่ไม่มีสินค้าอะไรเราก็ขายของที่ตลาดนั้นยังไม่มี เท่านี้ก็เป็นตลาดแบบน่านน้ำสีครามของเราแล้ว อาทิ ตลาดนี้มี ก๋วยเตี่ยว ข้าวต้ม อาหารตามสั่ง ข้าวแกง เราก็ขายหอยทอดซะจะได้ไม่ซ้ำใคร (แต่ที่แน่ๆ หอยทอดเราต้องอร่อยด้วยนะจะได้มีลูกค้าเยอะๆ)

กรณีของธุรกิจขนาดย่อมการสร้างความแตกต่างของสินค้าย่อมส่งผลดีต่อยอดขาย และเพิ่มความน่าสนใจต่อตัวสินค้าและทัศนคติที่ดีของผู้ซื้อต่อสินค้าด้วย ทั้งนี้การสร้างความแตกต่างของสินค้ารวมทั้งต้องให้สินค้าเป็นที่น่าสนใจต่อลูกค้าไปพร้อมๆ กันนั้นจำเป็นต้องอาศัยทัศนคติเชิงบวก (+) ของตัวเจ้าของธุรกิจเองที่จะต้องมีความกระตือรือร้นและมีความคิดสร้างสรรค์ ก็ในเมื่อธุรกิจใหญ่ที่ที่มีสินค้าซ้ำๆ กันอย่างคอมพิวเตอร์ยังมี Ipad แทรกเข้ามาดึงยอดขายในตลาด IT ได้ แล้วธุรกิจขนาดเล็กอย่างเราที่ปรับเปลี่ยนง่าย เคลื่อนที่สะดวกก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากในการสร้างน่านน้ำสีครามของเราเองขึ้นมา

ที่กล่าวไว้ว่าธุรกิจขนาดย่อมได้เปรียบในการนำกลยุทธ์น่านน้ำสีครามมาใช้เนื่องจากความคล่องตัวในการดำเนินการต่างๆ ของธุรกิจขนาดย่อม ทั้งขนาด กลุ่มลูกค้า และการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ หากวันนี้สินค้าของเราอยู่ในน่านน้ำสีครามและวันใดข้างหน้าเกิดมีคนมาทำสินค้าเลียนแบบเรา หรือหาของที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันมาขาย เนื่องจากเราเป็นธุรกิจที่มีขนาดไม่ใหญ่การปรับตัวหนีคู่แข่งหรือคนเลียนแบบก็ง่ายกว่าองค์กรใหญ่ๆ โดยเราอาจหาหรือคิดค้นสินค้าใหม่ๆ มาขาย หรือจะย้ายหนีไปขายที่อื่นเลยก็ยังทำได้ แถมดีซะอีกเราจะได้ไม่เบื่อหน่ายกับสินค้าเดิมๆ ลูกค้าก็ไม่รู้สึกจำเจ (ให้เรามองโลกในแง่บวกทุกๆ อย่างปรับปรุงแก้ไขได้เสมอ..)