วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ออกร้านกับหน่วยงานราชการ


การออกร้านกับหน่วยงานราชการเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก

เพราะนอกจากหน่วยงานราชการจะมีงานออกร้านที่จัดโดยหน่วยงานนั้นๆ บ่อยๆ แล้ว  ยังคิดค่าพื้นที่ค่อนข้างถูก หรือบ่อยครั้งที่ไม่ต้องเสียค่าพื้นที่เลย

หน่วยงานราชการที่จัดงานออกร้านอยู่เป็นประจำตลอดทั้งปี อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมอุสาหกรรม กรมการค้าภายใน กรมส่งเสริมการส่งออก

โดยเจ้าของกิจการสามารถติดต่อสอบถามกับฝ่ายประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานเหล่านี้  แจ้งความประสงค์ว่าต้องการออกร้านกับหน่วยงาน และขอรายละเอียดในการออกร้าน

หรือหากเจ้าของกิจการเป็นสมาชิกของกลุ่มแม่บ้านต่างๆ ในพื้นที่ตั้งร้านของท่าน  โอกาสในการออกร้านกับหน่วยงานดังกล่าวก็เพิ่มสูงมากขึ้น

ทั้งนี้ เพราะในการจัดงานออกร้านแต่ละงาน หน่วยงานต่างๆ มักจะแบ่งสัดส่วนของพื้นที่เป็นเปอร์เซ็นในการให้ร้านค้าในภาคส่วนต่างๆ ได้ออกร้านขายของ

ตัวอย่างเช่น 1. กลุ่มแม่บ้าน 40%  2. สมาคมแม่บ้านข้าราชการ 30% 3. ห้างร้านทั่วไป 30%  เป็นต้น

ซึ่งงานออกร้านของหน่วยงานราชการต่างๆ เหล่านี้มีตั้งแต่งานระดับเล็กๆ อาทิ งานกาชาดประจำจังหวัด งานประกวดผลไม้ รวไปถึงงานออกร้านกลุ่มแม่บ้านที่วนไปในแต่ละจังหวัด

ไปจนถึงงานระดับประเทศ อาทิ งาน OTOP งานอาหารนานาชาติ งานกาชาดสวนอัมพร งานเกษตรแฟร์ เป็นต้น

โดยงานของหน่วยงานราชการนอกจากมีข้อได้เปรียบด้านค่าพื้นที่แล้ว ยังมีข้อดีของผู้ซื้ออีกด้วย

กล่าวคือ เนื่องจากมาขายในงานที่หน่วยราชการเป็นผู้จัด ผู้ซื้อจึงมีทัศนคติที่ดีกับสินค้าของเรา ว่าอย่างน้อยสินค้าก็ต้องผ่านการเลือกสรรจากหน่วยงานที่จัดแล้วว่ามีคุณภาพ

การขายสินค้าในงานเหล่านี้จึงมักขายดี และขายสนุก ไม่ค่อยสร้างความกดดันกับพ่อค้า แม่ขาย

แต่เนื่องจาก มีงานหลายๆ งานที่อาจต้องออกต่างจังหวัด หากเลือกที่จะเดินทางไปขายสินค้า ผู้ขายก็ต้องเตรียมพร้อมกับเรื่องที่พัก การกินอยู่ ต่างๆ

หรือหากยังไม่พร้อม ก็ลองออกร้านกับสถานที่ที่เราสะดวกก่อนก็น่าจะดีกว่า

วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ค่าพื้นที่...ออกร้านในห้าง


การออกร้านในห้างดังๆ สิ่งที่ผู้ขายค่อนข้างมั่นใจได้มากก็คือจำนวนการขายที่ค่อนข้างมาก สร้างรายรับต่อวันค่อนข้างสูง

เนื่องจากห้างสรรพสินค้ามีจำนวนคนที่เข้ามาใช้จ่าย เดินเล่น และหาซื้อสินค้าจำนวนมาก  และลูกค้าเหล่านี้ต่างมีวัตถุประสงค์ในการมาห้างสรรพสินค้า คือ การจับจ่ายซื้อหาสินค้า หรือใช้คำง่ายๆ คือ มาใช้เงินนั่นเอง

ดังนั้น พ่อค้า แม่ค้าที่มาออกร้านในห้างสรรพสินค้าจึงไม่จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ที่มามายเพื่อดึงดูดลูกค้า

เนื่องจาก ผู้จัดพื้นที่ต่างดำเนินการจัดวางคอนเซ็ปงานที่จัดขึ้นอย่างดึงดูดอยู่แล้ว และลูกค้าก็พร้อมจะมาซื้อสินค้าเราเช่นกัน

ของเพียงสินค้าของเราน่าซื้อ และตรงความต้องการของลูกค้า ก็ไม่ยากที่จะขายสินค้าของเราให้ได้ในปริมาณมากๆ

ในการออกร้านแบบนี้ต่อวันร้านค้าที่มาออกร้านอาจได้รายได้โดยยังไม่หักค่าใช้จ่ายเป็นหลักตั้งแต่ หลายหมื่อนบาท ไปจนถึงหลักแสน หรือหลักล้านก็สามารถทำได้ (ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าและราคาสินค้า)

การออกร้านกับห้างสรรพสินค้าต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นที่สนใจของบรรดาผู้ค้าขายจำนวนมากเช่นกัน

ญาติของผู้เขียนก็เคยออกร้านในพื้นที่ห้างบริเวณลานกิจกรรมอยู่หลายปี โดยเช่าพื้นที่กับผู้จัดพื้นที่บ้าง หรือเช่ากับทางห้างฯ โดยตรงบ้าง

โดย ดังที่กล่าวในบทก่อนหน้าหากเช่ากับทางห้างสรรพสินค้าโดยตรงก็จะมีทางเลือก 2 แบบ คือชำระค่าที่ครั้งเดียว หรือแบบแบ่งกำไร

และหากเช่าพื้นที่กับผู้จัดพื้นที่เอกชนก็จะต้องชำระเงินครั้งเดียวเมื่อตอนจองพื้นที่ ซึ่งมักต้องจองล่วงหน้ากันเป็นเวลาหลายเดือน (เพราะผู้ต้องการพื้นที่มีกจะมีจำนวนมากกว่าจำนวนพื้นที่)

และยิ่งหากอยากได้พื้นทีทำเลดีๆ ยิ่งต้องรีบจองและรีบชำระเงินให้ไว เพื่อที่ทำเลที่เราต้องการไม่หลุดไปอยู่ในมือของคนอื่น

แล้วราคาค่าพื้นที่ล่ะ......

พื้นที่ที่เราเห็นร้านค้า ต่างไปจัดวางสินค้าขายของกันบางครั้งกว้าง บางครั้งแคบ เหล่านี้ต่างมีราคาแตกต่างกัน

พื้นที่เหล่านี้จะถูกคิดเป็นรายวันตามกิจกรรมที่จัดของห้างฯ ในแต่ละงาน  อาทิ งานเทศกาลอาหารไทย 5 วัน  ก็มีค่าเช่าพื้นที่ 5 วัน x ค่าพื้นที่

จากประสบการณ์ผ่านคนรู้จักค่าเช่าที่ล็อคเล็กๆ ขนาด 2.5 x 2.5 ค่าเช่าต่อวันจะตกประมาณ 5,000-20,000 บาทต่อวัน (ห้างดัง)  

โดยผู้เช่าอาจนำพื้นที่หารครึ่งกับผู้ค้าเจ้าอื่นได้ 1-2 ราย เพื่อลดค่าใช้จ่ายลง

ผู้เช่าพื้นที่จึงต้องคำนวณความคุ้มค่าในการออกร้านกับห้างสรรพสินค้าว่าค่าเช่าพื้นที่ที่จ่ายไปนั้นจะคุ้มกับการลงทุนที่เราจ่ายไปหรือไม่

ดังนั้น จึงอย่าแปลกใจเมื่อไปเห็นสินค้าธรรมดาไปอยู่ในห้าง แพ็คเก็จจะสวยขึ้น ราคาจะสูงขึ้น ต่างๆ เหล่านี้ล้วนทำขึ้นเพื่อให้สินค้าขายได้ดีในราคาที่สูงขึ้นมาก

ส่วนญาติของผู้เขียนนั้น ในการออกร้านกับห้างสรรพสินค้าต่างๆ ล้วนแต่ได้กำไรทั้งสิ้น มากบ้างน้อยบ้าง (ซึ่งส่วนใหญ่มาก) แล้วแต่ช่วงเวลา

แต่ก็ต้องแลกกับกฎเกณฑ์ต่างๆ ของห้างสรรพสินค้าทั้งเวลาเข้าจัดร้าน-เก็บร้าน รูปแบบการจัดร้าน หรือแพ็คเกจสินค้า เป็นต้น