วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ออกร้านกับหน่วยงานราชการ


การออกร้านกับหน่วยงานราชการเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก

เพราะนอกจากหน่วยงานราชการจะมีงานออกร้านที่จัดโดยหน่วยงานนั้นๆ บ่อยๆ แล้ว  ยังคิดค่าพื้นที่ค่อนข้างถูก หรือบ่อยครั้งที่ไม่ต้องเสียค่าพื้นที่เลย

หน่วยงานราชการที่จัดงานออกร้านอยู่เป็นประจำตลอดทั้งปี อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมอุสาหกรรม กรมการค้าภายใน กรมส่งเสริมการส่งออก

โดยเจ้าของกิจการสามารถติดต่อสอบถามกับฝ่ายประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานเหล่านี้  แจ้งความประสงค์ว่าต้องการออกร้านกับหน่วยงาน และขอรายละเอียดในการออกร้าน

หรือหากเจ้าของกิจการเป็นสมาชิกของกลุ่มแม่บ้านต่างๆ ในพื้นที่ตั้งร้านของท่าน  โอกาสในการออกร้านกับหน่วยงานดังกล่าวก็เพิ่มสูงมากขึ้น

ทั้งนี้ เพราะในการจัดงานออกร้านแต่ละงาน หน่วยงานต่างๆ มักจะแบ่งสัดส่วนของพื้นที่เป็นเปอร์เซ็นในการให้ร้านค้าในภาคส่วนต่างๆ ได้ออกร้านขายของ

ตัวอย่างเช่น 1. กลุ่มแม่บ้าน 40%  2. สมาคมแม่บ้านข้าราชการ 30% 3. ห้างร้านทั่วไป 30%  เป็นต้น

ซึ่งงานออกร้านของหน่วยงานราชการต่างๆ เหล่านี้มีตั้งแต่งานระดับเล็กๆ อาทิ งานกาชาดประจำจังหวัด งานประกวดผลไม้ รวไปถึงงานออกร้านกลุ่มแม่บ้านที่วนไปในแต่ละจังหวัด

ไปจนถึงงานระดับประเทศ อาทิ งาน OTOP งานอาหารนานาชาติ งานกาชาดสวนอัมพร งานเกษตรแฟร์ เป็นต้น

โดยงานของหน่วยงานราชการนอกจากมีข้อได้เปรียบด้านค่าพื้นที่แล้ว ยังมีข้อดีของผู้ซื้ออีกด้วย

กล่าวคือ เนื่องจากมาขายในงานที่หน่วยราชการเป็นผู้จัด ผู้ซื้อจึงมีทัศนคติที่ดีกับสินค้าของเรา ว่าอย่างน้อยสินค้าก็ต้องผ่านการเลือกสรรจากหน่วยงานที่จัดแล้วว่ามีคุณภาพ

การขายสินค้าในงานเหล่านี้จึงมักขายดี และขายสนุก ไม่ค่อยสร้างความกดดันกับพ่อค้า แม่ขาย

แต่เนื่องจาก มีงานหลายๆ งานที่อาจต้องออกต่างจังหวัด หากเลือกที่จะเดินทางไปขายสินค้า ผู้ขายก็ต้องเตรียมพร้อมกับเรื่องที่พัก การกินอยู่ ต่างๆ

หรือหากยังไม่พร้อม ก็ลองออกร้านกับสถานที่ที่เราสะดวกก่อนก็น่าจะดีกว่า

วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ค่าพื้นที่...ออกร้านในห้าง


การออกร้านในห้างดังๆ สิ่งที่ผู้ขายค่อนข้างมั่นใจได้มากก็คือจำนวนการขายที่ค่อนข้างมาก สร้างรายรับต่อวันค่อนข้างสูง

เนื่องจากห้างสรรพสินค้ามีจำนวนคนที่เข้ามาใช้จ่าย เดินเล่น และหาซื้อสินค้าจำนวนมาก  และลูกค้าเหล่านี้ต่างมีวัตถุประสงค์ในการมาห้างสรรพสินค้า คือ การจับจ่ายซื้อหาสินค้า หรือใช้คำง่ายๆ คือ มาใช้เงินนั่นเอง

ดังนั้น พ่อค้า แม่ค้าที่มาออกร้านในห้างสรรพสินค้าจึงไม่จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ที่มามายเพื่อดึงดูดลูกค้า

เนื่องจาก ผู้จัดพื้นที่ต่างดำเนินการจัดวางคอนเซ็ปงานที่จัดขึ้นอย่างดึงดูดอยู่แล้ว และลูกค้าก็พร้อมจะมาซื้อสินค้าเราเช่นกัน

ของเพียงสินค้าของเราน่าซื้อ และตรงความต้องการของลูกค้า ก็ไม่ยากที่จะขายสินค้าของเราให้ได้ในปริมาณมากๆ

ในการออกร้านแบบนี้ต่อวันร้านค้าที่มาออกร้านอาจได้รายได้โดยยังไม่หักค่าใช้จ่ายเป็นหลักตั้งแต่ หลายหมื่อนบาท ไปจนถึงหลักแสน หรือหลักล้านก็สามารถทำได้ (ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าและราคาสินค้า)

การออกร้านกับห้างสรรพสินค้าต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นที่สนใจของบรรดาผู้ค้าขายจำนวนมากเช่นกัน

ญาติของผู้เขียนก็เคยออกร้านในพื้นที่ห้างบริเวณลานกิจกรรมอยู่หลายปี โดยเช่าพื้นที่กับผู้จัดพื้นที่บ้าง หรือเช่ากับทางห้างฯ โดยตรงบ้าง

โดย ดังที่กล่าวในบทก่อนหน้าหากเช่ากับทางห้างสรรพสินค้าโดยตรงก็จะมีทางเลือก 2 แบบ คือชำระค่าที่ครั้งเดียว หรือแบบแบ่งกำไร

และหากเช่าพื้นที่กับผู้จัดพื้นที่เอกชนก็จะต้องชำระเงินครั้งเดียวเมื่อตอนจองพื้นที่ ซึ่งมักต้องจองล่วงหน้ากันเป็นเวลาหลายเดือน (เพราะผู้ต้องการพื้นที่มีกจะมีจำนวนมากกว่าจำนวนพื้นที่)

และยิ่งหากอยากได้พื้นทีทำเลดีๆ ยิ่งต้องรีบจองและรีบชำระเงินให้ไว เพื่อที่ทำเลที่เราต้องการไม่หลุดไปอยู่ในมือของคนอื่น

แล้วราคาค่าพื้นที่ล่ะ......

พื้นที่ที่เราเห็นร้านค้า ต่างไปจัดวางสินค้าขายของกันบางครั้งกว้าง บางครั้งแคบ เหล่านี้ต่างมีราคาแตกต่างกัน

พื้นที่เหล่านี้จะถูกคิดเป็นรายวันตามกิจกรรมที่จัดของห้างฯ ในแต่ละงาน  อาทิ งานเทศกาลอาหารไทย 5 วัน  ก็มีค่าเช่าพื้นที่ 5 วัน x ค่าพื้นที่

จากประสบการณ์ผ่านคนรู้จักค่าเช่าที่ล็อคเล็กๆ ขนาด 2.5 x 2.5 ค่าเช่าต่อวันจะตกประมาณ 5,000-20,000 บาทต่อวัน (ห้างดัง)  

โดยผู้เช่าอาจนำพื้นที่หารครึ่งกับผู้ค้าเจ้าอื่นได้ 1-2 ราย เพื่อลดค่าใช้จ่ายลง

ผู้เช่าพื้นที่จึงต้องคำนวณความคุ้มค่าในการออกร้านกับห้างสรรพสินค้าว่าค่าเช่าพื้นที่ที่จ่ายไปนั้นจะคุ้มกับการลงทุนที่เราจ่ายไปหรือไม่

ดังนั้น จึงอย่าแปลกใจเมื่อไปเห็นสินค้าธรรมดาไปอยู่ในห้าง แพ็คเก็จจะสวยขึ้น ราคาจะสูงขึ้น ต่างๆ เหล่านี้ล้วนทำขึ้นเพื่อให้สินค้าขายได้ดีในราคาที่สูงขึ้นมาก

ส่วนญาติของผู้เขียนนั้น ในการออกร้านกับห้างสรรพสินค้าต่างๆ ล้วนแต่ได้กำไรทั้งสิ้น มากบ้างน้อยบ้าง (ซึ่งส่วนใหญ่มาก) แล้วแต่ช่วงเวลา

แต่ก็ต้องแลกกับกฎเกณฑ์ต่างๆ ของห้างสรรพสินค้าทั้งเวลาเข้าจัดร้าน-เก็บร้าน รูปแบบการจัดร้าน หรือแพ็คเกจสินค้า เป็นต้น

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ออกร้านในลานกิจกรรมห้างสรรพสินค้า


หลายคนเคยตั้งคำถามเวลาไปเดินห้างสรรพสินค้า และเจอกับร้านค้าที่มาออกร้านขายของบริเวณลานกิจกรรมที่ตั้งอยู่ใจกลางห้าง

ร้านค้าเหล่านี้หมุนเวียนสับเปลี่ยนกันมาหลากหลายประเภทสินค้า และสินค้าเหล่านั้นต่างก็ขายดิบขายดี

เขามาขายกันได้อย่างไร?   นี่คือสิ่งที่หลายคนตั้งคำถาม

หากคุณเป็นคนช่างสังเกตคุณจะพบอีกว่า เมื่อไปเดินซื้อของห้างสรรพสินค้าแห่งอื่นๆ ในเวลาที่ต่างกันออกไป

ร้านค้าร้านเดิมๆ เหล่านี้ ที่เราเคยเห็นขายอยู่อีกที่ ก็ได้ตามมาขายสินค้าให้เราที่ห้างแห่งใหม่นี้อีกด้วย

พวกเขาจองพื้นที่กันอย่างไรหรือ?  พวกเขารู้ได้อย่างไรว่าห้างแต่ละห้างมีกิจกรรมให้ขายของกันตอนไหน?

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องลึกลับ ซับซ้อนชวนฉงน

แต่หากคุณสังเกตดูให้ละเอียดอีกที หรือมีเวลาเฝ้ามองกิจกรรมการขายสินค้าของพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ คุณจะเห็นกลุ่มคนที่เรียกว่า

"ผู้จัดพื้นที่" เดินไปเดินมาเพื่อตรวจตราความเรียบร้อยของพื้นที่ ที่ทำกิจกรรมออกร้านให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยอยู่เสมอ

เขาเหล่านี้เองคือ ผู้อยู่เบื้องหลังของการออกร้านกับห้างสรรพสินค้าโดยส่วนใหญ่


ทั้งนี้โดยปรกติ การขายสินค้าในพื้นที่ที่มีการจัดกิจกรรมที่มีการสับเปลี่ยนเสมอๆ ในพื้นที่ห้างนั้นจะแบ่งการเช่าที่ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. ห้างสรรพสินค้าจัดให้จองพื้นที่เอง  โดยพ่อค้าแม่ค้ามาติดต่อทิ้ง ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ และแจ้งประเภทสินค้าไว้  เมื่อทางห้างจะจัดงานก็จะโทรศัพท์มาเรียกให้ร้านค้าไปออกร้านในพื้นที่ที่เขาจัดไว้ให้  โดยมีค่าใช้จ่าย 2 แบบ คือ

1.1 ชำระเป็นค่าพื้นที่ตามราคาที่ทางห้างกำหนด  ทางผู้ค้าจะชำระเงินครั้งเดียวตอนทำสัญญาจองร้านค้า

1.2 ทางห้างจะคิดเปอร์เซ็นค่าเช่าที่จากร้านค้าเป็นเปอร์เซ็นจากการขายสินค้า อาทิ 20% หรือ 30%  โดยลูกค้าจะถือคูปองที่ซื้อจากทางห้างฯ มาซื้อสินค้าจากเรา ในตอนเย็น หรือเมื่อจบงาน เราก็นำคูปองไปแลกเป็นเงินสด โดยจะโดนหักเปอร์เซ็นตามที่ทางห้างกำหนดไว้ออกไป

โดยจากประสบการณ์ การชำระเงินค่าพื้นที่ครั้งเดียวทางผู้ขายจะมีกำไรมากกว่าการแบ่งเปอร์เซ็นให้กับทางห้าง เนื่องจากทางห้างหักเปอร์เซ็นจากราคาสินค้า ไม่ใช่จากกำไรของเรา

ดังนั้นการที่อาหารหรือสินค้าที่ออกร้านภายในห้างที่มีราคาสูงส่วนหนึ่งก็จากการที่ต้องคำนวณยอดเปอร์เซ็นที่ต้องแบ่งให้กับทางห้างฯ เข้าไปด้วยนั่นเอง


2. ห้างสรรพสินค้าเปิดให้ "ผู้จัดพื้นที่" หรือ "ออแกไนเซอร์" เข้ามาเป็นผู้จองพื้นที่โดยรวม  แล้วนำพื้นที่ไปแบ่งให้กับร้านค้าอีกทีหนึ่ง  ซึ่งส่วนใหญ่ที่เห็นร้านค้าภายในห้างจะเป็นลักษณะนี้


ดังนั้นการจะออกร้านกับห้างสรรพสินค้า เจ้าของกิจการขนาดเล็กสามารถติดต่อได้ 2 ช่องทางคือ 

1. ติดต่อห้างสรรพสินค้าโดยตรง (แผนกที่จัดการด้านพื้นที่)

2. ติดต่อผู้จัดพื้นที่ หรือ ออแกไนเซอร์  ซึ่งอาจต้องใช้วิธีการ

- สอบถามจากทางห้างถึงรายชื่อ ผู้จัดพื้นที่ & ออแกไนเซอร์

- สอบถามกับร้านค้าที่มาออกร้านเพื่อขอเบอร์ติดต่อผู้จัดพื้นที่ หรือหากมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีก็อาจตีสนิทขอเบอร์โทรศัพท์ร้านค้านั้นๆ เพื่อสอบถามการจองพื้นที่ต่างๆ ในครั้งต่อไป

- ใช้การสังเกตเพื่อหาบุคคลที่น่าจะเป็นผู้จัดพื้นที่ หรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อหาตัวแกนสำคัญในการจัดการเรื่องจองพื้นที่

โดยปรกติการจองพื้นที่กับผู้จัดพื้นที่นั้น  ผู้จัดพื้นที่จะจัดพื้นที่ในห้างหลายๆ ห้างต่อเนื่องกันไป

ดังนั้น หากได้เริ่มจองพื้นที่ขายได้แล้ว ระยะยาวผู้จัดพื้นที่ก็จะโทรศัพท์มาแจ้งข่าวสารให้เราอย่างต่อเนื่อง บางครั้งก็นำพื้นที่งานใหม่มาให้จองในงานที่กำลังขายอยู่

ผู้ค้าก็จะมีงานออกร้านขายสินค้าอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งงานออกร้านประเภทนี้มีวนเวียน สลับไปตามห้างต่างๆ ตลอดทั้งปี

ครั้งหน้ามาลองพิจารณาเรื่องค่าพื้นที่ในการออกร้านในห้างสรรพสินค้ากันค่ะ

วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทำเลไม่ดีก็มีชัยได้


ในเมื่อทำเลที่ดีใครๆ ก็ต้องการ  ดังนั้นหลายกิจการ และพ่อค้า แม่ค้าจำนวนมากจึงต่างหากลยุทธ์ในการจำหน่ายสินค้าโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยทำเลที่ตั้ง

ถึงแม้ว่าทำเลที่ตั้งจะเป็นสิ่งสำคัญต่อการค้าขาย แต่ในปัจจุบันเราสามารถเลือกนำยุทธวิธีทางการตลาดด้านอื่นๆ เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าเราสู่ผู้ซื้อได้หลากหลายวิธี

เจ้าของกิจการหลายท่านหันมาใช้เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์และการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตในการสร้างฐานลูกค้าใหม่ และจูงใจลูกค้าเก่า  

รวมไปถึงใช้บริการส่งสินค้าโดยไปรษณีย์ หรือขนส่งเอกชนเพื่อลดภาระการเดินทางของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

บางกิจการใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาในการดึงกลุ่มลูกค้าที่สนใจสินค้าที่มีราคาถูกให้มาซื้อสินค้าของตน  โดยใช้วิธีการขายส่งหรือขายสินค้าให้ได้จำนวนมากเพื่อเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นตามจำนวนที่หน่ายออกไป

บางท่านใช้กลยุทธ์สร้างโปรโมชั่นให้กับสินค้า อาทิ การซื้อสินค้าแล้วมีการสะสมแต้มเพื่อลดราคาในครั้งต่อๆ ไป  หรือการซื้อสินค้าแล้วแถมสินค้าบางชิ้นเพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการซื้อของผู้ซื้อ

หลากหลายวิธีการเหล่านี้เจ้าของกิจการสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกิจการของตนเองได้อย่างง่ายๆ

โดยวิธีการเหล่านี้จะสามารถเพิ่มการขายให้กับสินค้าได้  โดยอาจไม่จำเป็นต้องอาศัยทำเลที่ตั้งที่เป็นทำเลทองเลย

ขอยกตัวอย่างของครอบครัวผู้เขียนเองที่ในอดีตนำสินค้าออกจำหน่ายในพื้นที่ทำเลที่ดี ที่ต่างก็อยู่ห่างไกลกัน  ซึ่งจำเป็นต้องเดินทางไกลในการนำสินค้าไปจำหน่าย

ในแต่ละวันต้องใช้เวลาเดินทาง 2-3 ชั่วโมงเพื่อนำสินค้าไปขายในพื้นที่นั้นๆ  ซึ่งแม้จะสร้างรายได้ที่ดีแต่ในระยะยาวก็มีผลต่อสุขภาพร่างกาย

ต่อมาเมื่อระบบอินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทมากขึ้นจึงได้เปิดร้านค้าทางอินเตอร์เน็ตและเริ่มมีลูกค้าสนใจเข้ามาซื้อสินค้ามากขึ้น

ซึ่งในปัจจุบันก็จำหน่ายสินค้าเพียงทางอินเตอร์เน็ตและทางหน้าร้านเท่านั้น  โดยสินค้าแทบทุกชิ้นลูกค้าจะมาชมและซื้อสินค้าด้วยตัวเองเกือบทุกคน

โดยจะมีส่งสินค้ากับขนส่งเอกชนให้กับลูกค้าที่อยู่ต่างจังหวัดและไม่สะดวกเดินทางมารับสินค้าเท่านั้น

ซึ่งช่วยลดภาระในการเดินทางไปขายสินค้าในที่ต่างๆ ได้อย่างมาก  ส่งผลดีต่อสุขภาพ และตัวลูกค้าเองก็ได้เดินทางมาทดลองสินค้าด้วยตัวเอง 

ซึ่งบางครั้งไม่เพียงซื้อสินค้าที่ต้องการจากการชมในเว็บไซต์เท่านั้น ลูกค้าหลายท่านก็ได้ซื้อสินค้าอย่างอื่นๆ ติดเมือกลับไปอีกด้วย

โดยเทคนิคที่ทำให้ลูกค้าเดินทางมารับสินค้าด้วยตัวเอง คือ การจูงใจเรื่องการชมสินค้าจริง และได้ทดลองสินค้าด้วยตัวเอง  รวมไปถึงการลดราคาเล็กน้อให้กับลูกค้า

ดังนั้น  แม้ทำเลที่ดีจะเป็นสิ่งสำคัญในการค้าขาย  แต่หากเราไม่สามารถเลือกทำเลที่ตั้งที่ดีได้จากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยด้านราคาค่าที่ การเดินทาง รวมไปถึงการจัดสรรเวลาที่ไม่ลงตัว

เราก็สามารถปรับกลยุทธ์การค้าขายเพื่อลดการพึ่งพาพื้นที่การขายลง โดยผลกดันกลยุทธ์ด้านอื่นๆ มาใช้เพื่อทำดำเนินการขายให้มีประสิทธิภาพได้

ดังเช่น กลยุทธ์ส่วนผสมทางการตลาด (Marketing Mix Strategy : 4P)  ของ Philip Kotler  ที่กล่าวถึงกลยุทธ์ 4 ด้านที่จะที่จะสนองความต้องการของลูกค้าได้ คือ ผลิตภัณฑ์ (Product) ราคา (Price) ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place) การส่งเสริมการตลาด (Promotion) 

โดยทั้ง 4 ประการจะต้องสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้สนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างกลมกลืน

ดังนั้นทำเลที่ดีอย่างเดียวจึงไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้สินค้าขายดีได้แต่ต้องรวมกลยุทธ์หลายๆ ด้านเข้าด้วยกันเพื่อสร้างรายได้ที่ดีและยั่งยืนแก่เจ้าของกิจการ

ขอเพียงเลือกวิธีที่เหมาะสมกับกิจการและสินค้าของเรา  ความสำเร็จย่อมเป็นของท่านเสมอ

วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทำเลดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

การมีพื้นที่ที่อยู่ในจุดที่ดีย่อมสร้างข้อได้เปรียบทางการค้า โดยสามารถขายสินค้าได้หลากหลาย ขายของได้จำนวนมาก และรายได้ย่อมมากขึ้นตามจำนวนสินค้าที่ขายได้

ในยามเช้าหรือยามเย็นช่วงเวลาก่อนเข้างาน และช่วงเวลาหลังเลิกงาน จึงมีร้านค้าจำนวนมากต่างจับจองพื้นที่ที่เป็นแหล่งชุมชนมีผู้คนสัญจรจำนวนมากเพื่อขายสินค้าของตน

ทางสัญจรที่มีผู้คนจำนวนมากผ่านไปผ่านมาเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นที่ทำเลทอง ที่หากใครได้จับจองเพื่อทำการค้าก็ย่อมสร้างรายได้จำนวนมากแก่เจ้าของพื้นที่

ดังนั้น พ่อค้า แม่ค้าจึงต่างพยายามค้นหาพื้นที่ทำเลดีเพื่อสร้างรายได้ที่ดีแก่การค้าของตน

แต่ในทางเดียวกันพื้นที่ที่สามารถทำเงินได้ดีย่อมมีข้อแลกเปลี่ยนจากการได้ทำเลดีๆ นั้นมาด้วย

อาทิ ราคาค่าเช่าพื้นที่แพง สถานที่ไกลจากที่พักของผู้ขาย หรือแม้กระทั่งมีช่วงเวลาการขายที่แตกต่างๆ จากช่วงเวลาปรกติ

  • ราคาค่าเช่าพื้นที่แพง  นั้นเป็นเรื่องปรกติของพื้นที่ค้าขายที่เป็นที่ต้องการของผู้ค้า  เพราะความต้องการพื้นที่มีเป็นจำนวนมากย่อมก่อให้เกิดการแข่งขันทางราคาของผู้ต้องการเช่าพื้นที่ ก่อให้เกิดการผลักดันราคาจนค่าเช่าสูงขึ้นเรื่อยๆ  อาทิ การเช่าที่ในพื้นที่ห้างในช่วงกิจกรรมต่างๆ ราคาของพื้นที่เป็นหลักหลายหมื่นบาทก็ยังมีผู้ค้าสนใจเช่าที่ในราคาดังกล่าว  หรือกรณีสวนจตุจักรที่สามารถจำหน่ายสินค้าได้เฉพาะในวันเสาร์-อาทิตย์ แต่เป็นพื้นที่ที่มีคนจำนวนมากไปจับจ่ายสินค้า ราคาค่าเช่าพื้นที่ก็สูงเช่นกัน แม้จะสามารถจำหน่ายสินค้าได้เพียงไม่กี่วันใน 1 เดือน  หรือแม้แต่กรณีพื้นที่หน้าร้านค้าปรกติในพื้นที่ที่สามารถค้าขายทำเงินได้ดี ค่าเช่าที่ก็เป็นหลักหมื่นบาทต่อเดือนเช่นกัน  กรณีเช่นนี้ผู้ค้าต้องคำนวณค่าใช้จ่ายความคุ้มทุนของกิจการว่าเหมาะสมที่จะเช่าพื้นที่ดังกล่าวหรือไม่
  • สถานที่ไกล  บางครั้งเจ้าของกิจการขนาดเล็กก็ต้องยอมเดินทางไกลเพื่อที่จะจำหน่ายสินค้าของตนเองให้มีรายได้ที่สูงขึ้นจากการขายสินค้าในพื้นที่ปรกติ อาทิ ตลาดนัดต่างๆ ที่มีชื่อเสียงว่าสามารถจำหน่ายสินค้าได้จำนวนมาก ที่ต่างสลับวันกันเปิดจำหน่ายสินค้า    โดยพ่อค้า แม่ค้าจะต้องจัดตารางวันของตนเองเพื่อนำสินค้าไปจำหน่ายในตลาดนัดดังกล่าว  ในอดีตครอบครัวผู้เขียนเคยเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปขายของตลาดนัดที่จังหวัดชลบุรีในวันศุกร์ และเสาร์  และไปตลาดนัดจังหวัดอ่างทอง จังหวัดกาญจนบุรีในวันธรรดาก็ทำมาแล้ว
  • การขายในช่วงเวลาที่แตกต่าง  พื้นที่ทำเลทองบางแห่งมีช่วงเวลาขายสินค้าไม่เหมือนสถานที่่ขายของทั่วไป  ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของตลาดนั้นๆ   ผู้ขายที่สนใจขายสินค้าก็ต้องทำความเข้าใจกับตลาดดังกล่าว  อาทิ ตลาดนัดคลองถมขายสินค้าได้ในวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ช่วงเวลาที่ขายดีคือเวลากลางคืน ส่วนตลาดโบ๊เบ๊จะเปิดขายช่วงเช้ามืด เป็นต้น

ดังนั้น การเลือกพื้นที่เพื่อให้สามารถขายสินค้าได้ดี จึงต้องพิจารณาความเหมาะสมของสินค้า และความพร้อมของตนเอง  ว่าผู้ขายพอใจกับการขายสินค้าในพื้นที่แบบใดเพื่อจะสร้างรายได้ที่เหมาะสมให้กับตนเองมากที่สุด

วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เมื่อ SMEs นอนดึก


หากคุณตื่นเช้าและสามารถทำเงินจากการตื่นเช้าของคุณได้แล้ว  ทำไมคนที่ชอบนอนดึกจะไม่สามารถทำเงินกับช่วงเวลาที่เขาชอบได้ล่ะ

ไม่แตกต่างกันเลยกับช่วงเวลาเช้าที่มีเหล่าคนทำงานพร้อมจะเข้ามาเป็นลูกค้า และซื้อสินค้าของเรา

ในช่วงเวลายามดึกเราก็สามารถทำการค้าได้เช่นกัน และสามารถทำเงินได้เท่ากัน หรืออาจมากกว่าช่วงเวลาตอนเช้าก็ทำได้

จากการสังเกตในพื้นที่เดียวกันกับหัวข้อก่อน ที่ในช่วงเช้าที่มีร้านข้าวเหนียวหมูปิ้งสามารถทำเงินได้ในช่วงเวลาเช้า 5.00 น.-8.00 น.

ในพื้นที่เดียวกัน ในเวลาค่ำจนถึงดึกซึ่งเป็นช่วงที่ร้านค้าประจำต่างปิดร้านกันเกือบหมด เหลือเพียงร้านสะดวกซื้อ 2 แห่ง และร้านอินเตอร์เน็ตอีก 2 แห่ง

พื้นที่ดังกล่าวได้เปลี่ยนจากทางสัญจรและตลาดเล็กๆ ในเวลากลางวันกลายเป็นศูนย์รวมเล็กๆ ของคนนอนดึกไปในทันที

ในช่วงเวลา 2 ทุ่มเริ่มมีร้านส้มตำไก่ย่างมาปักหลักหน้าร้านสะดวกซื้อและตั้งอยู่จุดนั้นจนถึงเวลาใกล้เที่ยงคืน ข้างๆ กันมีร้านไส้กรอกอีสานอีก 1 ร้าน

บริเวณนั้นจึงมีแหล่งอาหารร้อนๆ พร้อมรับประทานเพียง 2 ร้านนี้ กับร้านสะดวกซื้ออีก 2 แห่ง

โดยเมื่อใช้เวลาสังเกตในเวลากลางคืนบริเวณนี้ผู้คนน้อยมากๆ  มีเพียงร้านอินเตอร์เน็ตที่เปิดอยู่เท่านั้น

แต่กลับพบว่ามีคนมายืนรอสั่งอาหารจากร้านส้มตำไม่เคยขาด

ไก่ย่างถูกปิ้งควันฉุยอย่างต่อเนื่อง  คนที่ยืนรออาหารก็เดินไปซื้อของในร้านสะดวกซื้อและกลับออกมารอต่อ

คนที่จะมาซื้อของในร้านสะดวกซื้อก็สั่งส้มตำแล้วจึงออกมารับอาหารของตนเอง

ฝ่ายไส้กรอกอีสานก็ขายได้เช่นเดียวกันแม้ไม่โดดเด่นเช่นร้านส้มตำที่มีอาหารให้สั่งมากกว่า แต่ก็สามารถขายได้เรื่อยๆ ไม่ขาดตอน

ตัวผู้เขียนเองเคยออกมาซื้อส้มตำร้านดังกล่าวในเวลา 4 ทุ่ม ร้านส้มตำดังกล่าวก็มีลูกค้ายืนรออาหารอยู่หลายคนแล้ว

ดังนั้นแม้ว่าจะไม่ใช่พื้นที่ทำเลทอง หรือช่วงเวลาที่ผู้คนคับคั่ง หากเราพิจารณาเลือกสินค้าที่เหมาะสม  เราก็สามารถทำเงินและมีรายได้ที่งดงามได้ไม่ยาก

ในบางครั้งเราไม่จำเป็นที่จะต้องไปแย่งพื้นที่ที่มีราคาค่าเช่าแพง เพราะมีคนต้องการพื้นที่นั้นมากๆ

หรือไปหาสินค้าที่แตกต่างจากคนอื่นเพราะในพื้นที่ทำเลทอง หรือช่วงเวลาทองสินค้าอะไรที่เราอยากขายก็มักมีคนขายไปหมดแล้ว

ดังนั้นหากเราสามารถหาพื้นที่ที่สามารถค้าขาย หรือทำเงินได้  ในช่วงเวลาที่ไม่มีใครสนใจ เราก็จะสามารถเลือกสินค้ามาขายได้อย่างไม่ต้องกังวล เนื่องจากสินค้าเราจะไม่มีทางซ้ำกับใครเลย

ถ้าท่านใดยังไม่มีไอเดียทางการค้า และชอบบรรยากาศยามค่ำคืน   ว่างๆ ก็ลองออกไปเดินเล่นในพื้นที่ใกล้ๆ บ้าน หาทำเลทำการค้าดูก็อาจเจอพื้นที่ถูกใจ แต่ยังไม่มีใครจองได้เช่นกัน

วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

เมื่อ SMEs ตื่นเช้า


การตื่นเช้าสามารถสร้างประโยชน์ให้เจ้าของกิจการขนาดเล็กได้หลายข้อ ทั้งการได้สูดอากาศดีๆ ยามเช้า ได้รับข้อมูลข่าวสาร รวมไปถึงสามารถทราบเหตุการณ์ต่างๆ ก่อนใคร

อีกทั้งในตอนเช้าเราสามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้ตัวเองได้ ในขณะที่คนอื่นๆ ยังทำกิจกรรมประจำวันอยู่

ทั้งนี้ในขณะที่ในทุกเช้าของวันทำงานพนักงานบริษัท และผู้ที่มีงานประจำต่างออกไปทำงาน เจ้าของกิจการขนาดเล็กก็กำลังสร้างเงินให้กับตนเองอยู่เช่นเดียวกัน

ทั้งหน้าบ้าน ริมทางเท้า ตรอก ซอย ต่างเต็มไปด้วยร้านค้าขนาดเล็กเปิดให้บริการกับผู้สัญจร และเดินทางไปทำงานด้วยสินค้ามากมาย

พ่อค้า แม่ค้าเหล่านี้ต่างสร้างรายได้มหาศาลให้กับวงจรธุรกิจในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงในยามเช้า

ข้าวจานละ 30 บาท  ขายได้ 10 จาน = 300 บาท   หากขายได้ 100 จาน = 3000 บาท   หากคำณวนกำไรเพียง 20% ร้านข้าวร้านนี้จะมีรายได้ช่วงเช้าของวันนั้นที่ 600 บาท

ขนมชิ้นละ 10 บาท  ขายได้ 10 ชิ้น = 100 บาท   หากขายได้ 100 ชิ้น = 1000 บาท   หากคำณวนกำไรเพียง 20% ร้านขนมร้านนี้จะมีรายได้ช่วงเช้าของวันนั้นที่ 200 บาท

เมื่อไม่นานนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสออกไปทำธุระแต่เช้าในบริเวณที่มีโรงงานตั้งอยู่จำนวนมาก และพบว่าในเวลาตี 5 มีพนักงานออกจากบ้านแต่เช้าเพื่อรอรถจากบริษัทมารับไปทำงาน  และบริเวณที่พนักงานนับร้อยเหล่ากลับมีร้านรถเข็นข้าวหนียวหมูย่าง (ที่ย่างสำเร็จมาแล้ว) อยู่เพียง1 ร้าน

แน่นอนว่าจากที่ยืนมองอยู่เป็นเวลาประมาณ 30 นาที ร้านข้าวเหนียวหมูย่างสามารถขายสินค้าของตัวเองได้เป็นข้าวเหนียวกว่า 50 ห่อพร้อมหมูย่างอีกเป็นจำนวนที่มากกว่า

โดยจากการสอบถามเจ้าของร้าน เขาใช้เวลาในการขาย ณ จุดนี้ถึงประมาณ 8 โมงเช้าเมื่อพนักงานเริ่มลดจำนวนลงแล้วและร้านค้าบริเวณนั้นเริ่มเปิดร้าน

ดังนั้นเวลาทำงานของคนหนึ่ง จึงกลับเป็นเวลาได้พักของอีกคนหนึ่ง

และในขณะที่อีกคนหนึ่งกำลังพักผ่อนอยู่นั้น  อีกหลายๆ คนก็กำลังทำเงินได้อย่างมากมายเช่นกัน

ดังนั้น หากลองสังเกตพื้นที่ที่ดูเหมือนในเวลาปรกติเหมือนไม่ใช่ทำเลทอง ในบางเวลาอาจเป็นพื้นที่สร้างเงินของคุณได้ในช่วงเวลาพิเศษที่คนทั่วไปไม่คาดคิด

วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555

ราชการจ่ายเงินช้าจริงหรือ ???????

มีผู้ที่ทำธุรกิจส่วนตัวขนาดเล็กหลายคนกลัวที่จะต้องทำธุรกิจกับหน่วยงานราชการ เนื่องจากกลัวในเรื่องความยุ่งยากของการจัดเตรียมเอกสาร และความล่าช้าในการเบิกจ่ายเงินของหน่วยงานราชการ

แต่รู้หรือไม่ว่าในความเป็นจริงแล้ว หน่วยงานราชการจ่ายเงินในการสั่งผลิตงานหรือซื้อสินค้ารวดเร็วกว่าองค์การเอกชนหลายๆ ที่เสียอีก

เนื่องจาก ตัวผู้เขียนเองเมื่อเรียนจบปริญญาโทใหม่ๆ ได้เป็นผู้ช่วยวิจัยและได้ติดต่อซื้อขายและสั่งผลิตงานที่ใช้ในการวิจัยให้กับโครงการอยู่บ้างจึงทำให้ทราบว่า ในความเป็นจริงแล้วขั้นตอนการทำงานและการดำเนินการเบิกเงินของระบบราชการถึงแม้จะมีหลายขั้นตอน แต่ในปัจจุบันเจ้าหน้าที่แต่ละส่วน แต่ละฝ่ายสามารถดำเนินการในส่วนของตัวเองได้อย่างรวดเร็วมาก ส่งผลให้ผู้ที่ติดต่องานกับหน่วยงานโดยเฉพาะร้านค้า หรือผู้ผลิตงานต่างๆ สามารถได้รับเงินค่าสินค้าและค่าจ้างได้ในเวลาอันรวดเร็ว

เมื่อมาเริ่มต้นทำธุรกิจขนาดเล็กๆ ของตนเอง ผู้เขียนก็ได้รับการติดต่อสั่งงานจากหน่วยงานราชการหลายที่ และเรื่องการชำระเงินก็สามารถดำเนินการได้อย่างเรียบร้อยเช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้นหน่วยงานราชการเหล่านี้มีเครือข่ายโยงใยกันมากมาย การรับงานจากหน่วยงานหนึ่งแห่งยังส่งผลให้ผู้เขียนได้งานจากหน่วยงานอื่นๆ ในเครือข่ายของหน่วยงานดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง (คำแนะนำแบบปากต่อปาก) และในระยะหลังมีการแนะนำ บอกต่อกันแบบข้ามองค์กรก็มีเช่นกัน อาทิ ผลิตงานให้กับกระทรวง....หน่วยงานหนึ่ง ต่อมาก็มีการแนะนำให้อีกหน่วยงานหนึ่งมาใช้บริการเพิ่ม เป็นต้น

ตามประสบการณ์ที่ผ่านมาของธุรกิจของผู้เขียน หน่วยงานราชการส่วนใหญ่มีระยะเวลาการวางบิลไม่แตกต่างจากหน่วยงานเอกชน คือ 1 เดือน บางครั้งอาจมีล่าช้าบ้างนิดหน่วยส่วนใหญ่แล้วมีล่าช้าเพียงไม่เกิน 20% ของหน่วยงานทั้งหมด และล่าช้าไม่เคยเกิน 2 เดือน หลายแห่งชำระเงินสด และบางแห่งวางบิลเพียง 10-15 วันเท่านั้น (ไวกว่าบริษัทเอกชนเสียอีก)

ดังนั้น ความกลัวที่เคยปลูกฝังมายาวนานว่า ระบบราชการล่าช้า ทำงานให้ราชการตกเบิกครั้งหนึ่งๆ นาน 3 เดือน 6 เดือน กล่าวได้เลยว่าเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้เขียนไม่เคยประสบเลยตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัวมา ทั้งนี้อาจเนื่องจาก ธุรกิจของผู้เขียนเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งค่าจ้างในการผลิตงานมักจะไม่เกิน 100,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งจำได้ว่าหากยอดจัดจ้างไม่เกิน 100,000 บาท การทำเรื่องเบิกเงินหรืองบจ้างผลิตจะใช้เวลาไม่นานเท่า งบที่มีจำนวนสูงกว่า 100,000 บาท (ผู้อ่านลองนำเทคนิคนี้ไปใช้ในการพิจารณารับจากหน่วยงานรัฐบาลก็ได้นะคะ)

ส่วนในเรื่องของการเตรียมเอกสารนั้นธุรกิจส่วนตัวของผู้เขียนจดทะเบียนพาณิชย์ ไม่ได้เป็นบริษัท หรือ หจก. เลยด้วยซ้ำก็ยังสามารถเตรียมเอกสารได้อย่างง่ายๆ ภายในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง

เอกสารที่ต้องเตรียมเมื่อจะผลิตงานหรือจำหน่ายสินค้าให้กับหน่วยงานราชการ

1. ทะเบียนการค้า
2. บัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของทะเบียนการค้า
3. ภ.พ. 20 (ควรจะมี - ใช้ออกใบกำกับภาษี)
4. บัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ + ใบมอบอำนาจ (กรณีให้คนอื่นไปยื่นเอกสารแทนเจ้าของทะเบียนการค้า)
5. อากรแสตมป์ 0.001% หรือ 1,000 ละ 1 บาท ของราคางานโดยรวม (กรณีงานจ้างผลิต)
6. สมุดบัญชีธนาคาร (กรณีชำระเงินโดยการโอนเงิน)

แค่นี้เราก็สามารถรับงานจากหน่วยงานราชการได้แล้ว งานดี เงินไม่ช้า และการติดต่องานโดยรวมก็ไม่แตกต่างกับบริษัทเอกชนทั่วๆ ไปเลย

ต่อไปนี้หากมีหน่วยงานราชการติดต่อมาเข้ามาขอให้เพื่อนๆ ลองเปิดใจพิจารณารับงาน ไม่แน่ว่าหน่วยงานดังกล่าวจะกลายเป็นลูกค้าประจำของคุณในระยะยาวก็เป็นไปได้